เที่ยวลพบุรี... ปาร์ตี้ "คนสกุลบุนนาค"

จากกรุงเทพฯ ถึงลพบุรี ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น วันเสาร์เช้าตรู่ คนสกุลบุนนาค รวบรวมไพร่พลยกขบวนชวนกันไปจังหวัดลพบุรีกัน ไปรำลึกความหลังครั้งยังไม่เกิด !

ว่ากันว่า สกุลบุนนาค สืบเชื้อสายมาจากพระยาเฉกอะหมัด ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา

เกือบๆ 400 ปีเชียวละ โปรแกรมที่คุณๆ พอจะเซตกันเองได้ก็คือ ภาคเช้าไปพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนภาคบ่ายเราไปไหว้พระที่พระพุทธบาทสระบุรีกันดีไหม

แต่ถ้าจะไปทั้งครอบครัว ยกกันไปเลย เหมาะที่สุด !!

อย่างสกุลบุนนาคเขาก็รวมญาติมิตรคนนามสกุลเดียวกันกว่า 30 ชีวิต ไปเที่ยวลพบุรี แทนที่จะไปดูทุ่งทานตะวันที่กำลังบานสะพรั่งในเวลานี้ เขาไปดูบรรพบุรุษของพวกเขากันค่ะ ว่ากันว่า สมัยหนึ่งที่ลพบุรีนั้น สกุลบุนนาคซึ่งมีเชื้อสาย "ชาวอิหร่าน" ก็เคยมีบทบาทอย่างมากมายที่นี่มาก่อน

วังพระนารายณ์ เป็นวังใหม่ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมาซ่อมแซมสร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 บริเวณพระราชฐานชั้นนอก สมัยก่อนเขาใช้ที่นี่เป็นสถานที่จัดเลี้ยงรับรอง บรรยากาศที่เขาว่าไว้ก็คือ เมื่อมีงานเลี้ยง เหล่าขุนนางจะนั่งกับพื้น มีหมอนอิงอยู่ข้างๆ กรุ่นด้วยเครื่องหอม อาหาร ประเภทแกงนานาชนิดแบบในนิทานอาหรับราตรี ถ้าได้อยู่สมัยนู้น คงจะมีโอกาสได้เห็นบ้างละค่ะ แต่สมัยนี้ก็นึกเอาละกัน

ในสมัยก่อน คงไม่มีโอกาสได้เข้าไปด้านในแบบนี้ ถือว่าโชคดีที่บังเอิญเกิดในยุคนี้ จึงได้แอบเกาะชายเหล่าสกุลเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน ที่ที่เรียกว่า "ห้องส่วนตัว" นะคะ เขาเล่าว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงประทับอยู่กับพระมเหสีและเสด็จสวรรคตที่นั่น

ใกล้ๆ กัน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ออกเงินโดยเอกชน มีโต้โผใหญ่คือ อาจาร์ภูธร ภูมะธน เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการตกแต่ง จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เก็บประวัติศาสตร์ในสมัยพระนารายณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเปิดประเทศติดต่อสื่อสาร ใครมาใครไป "ชาวอิหร่าน" มีบทบาทในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อย่างไร ตามไปดูกัน...

ถ้าจะให้ดี ลองศึกษาไปก่อน การไปครั้งนี้ก็จะมีรสชาติมากขึ้น

มีเวลาเล็กน้อยก่อนจะเที่ยง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ทำให้คุณๆ หายหิวค่ะ ! นั่งฟังเอ็มพี 4 ใต้ต้นไม้ ทิ้งให้เด็กๆ ออกแรงวิ่งบนสนามหญ้า ปล่อยเท้าน้อยๆ สัมผัสผิวดิน รักษาสมดุลชีวิตแบบนี้ดีไหมคะ

อย่ารีบร้อนค่ะ ยังมีอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่เราจะค่อยๆ อ่านไป

เคยทราบหรือไม่คะว่า พระเจ้าเหานั้นมีจริงหรือไม่ "สมัยพระเจ้าเหา" ไม่ได้พูดขันๆ มีจริงๆ สมัยพระนารายณ์มหาราชนี่แหละ มีตึกที่มีพระพุทธรูปที่ชื่อ "พระเจ้าเหา" อยู่ด้วย ครั้งหนึ่งตึกแห่งนี้ใช้เป็นหอพระ และยังเป็นที่วางแผนสกัดพวกกบฏต่างชาติอีกด้วย

ถ้าไปต้องได้ดู 2-3 ที่นี้นะคะ

ส่วนช่วงบ่าย เขาไปเที่ยวที่ พระพุทธบาทสระบุรีกัน

ว่ากันว่า ปฐมบท ต้นตระกูล มาจากที่นี่แหละ เมื่อเสนาบดีท่านหนึ่งที่ชื่อว่าพระยาเพชรพิชัย (ใจ) แสดงความจงรักภักดี ต่อพระเจ้าบรมโกฐด้วยการเปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธและรับใช้พระเจ้าบรมโกฐตั้งแต่บัดนั้นมา

มาไหว้พระพุทธบาทมาแล้ว ค่อยๆ ใช้เวลาสำรวจตรวจสอบไปนะคะ ตั้งแต่ประตูมุกทางเข้าพระพุทธบาทที่ดูชดช้อยเป็นที่สุด ถ้าทดลองลูบไล้ด้วยปลายนิ้วดู บางทีเราอาจจะเห็นถึงความตั้งใจ สมาธิ วิธีการหมุนบิดข้อมือจนได้ลวดลายเหล่านั้นมา

ช่างหลวงเขาต้องฝึกฝนขนาดไหนหนอ ?? อาจจะใช้เวลาในการฝึกฝน สั่งสมมาทั้งชีวิตก็ได้ ใครจะไปรู้ เป็นโอกาสที่เราจะได้บอกลูกหลานถึงบรรพบุรุษของเราละค่ะ

ความภาคภูมิใจของคนในตระกูลกับความภาคภูมิใจในการที่ได้เป็นคนไทยไม่ต่างกัน

คนต้นสกุลบุนนาค ค่อนข้างมีบทบาทในยุคนี้ และยังมีหลักฐานมากมาย ที่บอกว่า บรรพบุรุษของเรา นอกจากจะมีเชื้อสายจีน เรายังมีเชื้อสายแขก อิหร่านปะปนกันไป

เพราะเรามีวัฒนธรรมและเชื้อชาติหลากหลาย ทำให้ชาวไทยไม่มีแบ่งเขาแบ่งเรามาตั้งแต่อดีต

การหนีบกระเป๋าไปปิกนิกครั้งนี้ นอกจากได้พักผ่อนแล้ว ยังได้เก็บความภูมิใจในความเป็นคนไทยใส่กระเป๋ากลับมาด้วย

 

บทความจาก : ประชาชาติธุรกิจ

 

 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.