เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) นับเป็นต้นสายสกุลหรือวงศ์เฉกอะหมัด ชั้นที่ ๑ ท่านมีบุตร ๒ คน ธิดา ๑ คน ได้แก่ ท่านชื่น ท่านชม และท่านชี ท่านชื่นได้เป็นพระยาบวรเชฐภักดีมาแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) วงศ์เฉกอะหมัดชั้นที่ ๒ มีบุตรสองคนกับภรรยาหลวง (ไม่ปรากฎชื่อ) ที่หนึ่งเป็นหญิง ชื่อเลื่อน ซึ่งได้ถวายเป็นพระสนมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระองค์เจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าแสงจันทร์ ที่สองเป็นชายชื่อสมบุญ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจมื่นจงภักดีในกรมวัง ในแผ่นดินสมเด็จ พระนารายณ์ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ ขึ้นเป็นพระยาบำเรอภักดี ปลัดทูลฉลองกรมวัง ท่านมหฺหมัดสะอิดน้องชายเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ซึ่งกลับไปบ้านเมืองเดิมนั้น ได้มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ อากามหะหมัด ผู้ได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยและอยู่กับเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ผู้เป็นพี่ เจ้า พระยาอภัยราชาได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายณ์ขอพระราชทานท่านชี น้องสาวให้เป็นภรรยาท่านอากา-มหะหมัด ท่านทั้งสองจึงได้ตั้งรกราก อยู่กรุงศรีอยุธยา สร้างบ้านเรือนหลายหลังอยู่ใกล้วัดอำแม ชาวพระนครเรียกหมู่บ้านนั้นว่า บ้านแขกกะฎีใหญ่ ต่อมาสมเด็จ พระนารายณ์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านอากามหะหมัดเป็นพระยาศรีนวรัตน์ เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชา(ชื่น)ถึงอสัญกรรม พระยาบำเรอภักดี (สมบุญ) ผู้บุตรมีอายุได้ ๔๐ ปี สมเด็จ พระนารายณ์โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าพระยาชำนาญภักดี ที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) วงศ์เฉกอะหมัดชั้นที่ ๓ มีบุตร ๒ คน ชื่อใจ และชื่อจิตร บิดาได้ถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กทั้งสองคน ส่วนพระยาศรีนวรัตน์และท่านชี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อ ยี และชื่อแก้ว บิดาถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กทั้งคู่ รับราชการมีความสามารถมาก พระอนุรักษ์ราชา(ยี) เป็นผู้กล้าหาญและมีฝีมือเข้มแข็งได้เคยไปร่วมรบกับพระเพทราชา เมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และร่วมไปในกองทัพของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)ด้วย สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาอนุรักษ์ราชา(ยี) ให้เป็นเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตะนาวศรีรักษาเมืองหน้าศึก และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงศรียศ(แก้ว) เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา บุตรเจ้าพระยาชำนาญภักดี(สมบุญ)สองคน คือ ท่านใจและท่านจิตรนั้น ท่านใจไม่ได้ทำราชการ แต่ท่านจิตรน้องชายซึ่งชอบพอรักใคร่กับขุนหลวงสรศักดิ์ มหาอุปราชเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านจิตรเป็นพระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมตำรวจหน้าในพระราชวังบวรฯ แต่ท่านถึงแก่อนิจกรรมก่อนที่ขุนหลวงสรศักดิ์จะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโปรดให้ข้าหลวงเดิมหลายคนที่มีความดีความชอบเป็นเจ้าพระยา พระยา พระ ฯลฯ ตามฐานานุศักดิ์ความชอบมากและน้อย ทั้งพระราชทานทรัพย์สินตามลำดับ ในจำนวนขุนนางที่ทรงตั้งขึ้นนั้น มีท่านใจซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่ของเจ้าพระยาชำนาญศักดิ์(สมบุญ)ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยาเพ็ชรพิไชย จางวางกรมล้อมพระราชวังหลวง และให้ว่ากรมอาสาจามและอาสาญี่ปุ่นด้วย ส่วนบุตรสองคนของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) เจ้าเมืองตะนาวศรี ชื่อ ท่านสี และท่านสน นั้น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดา ศักดิ์ให้ท่านสีผู้พี่เป็นพระยาอมเรนทร์ จางวางกรมอาสาจาม ให้ท่านสนผู้น้องเป็นหลวงศรียศในกรมท่าขวา ต่อมาเมื่อพระยาศรีนวรัตน์ (อากามหะหมัด) บิดาเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ ชราภาพ และถึงอนิจกรรมลง เมื่ออายุ ๘๕ ปี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงศรียศ(สน) ขึ้นเป็นพระยา-จุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา ทั้งพระยาอมเรนทร์ (สี) และพระยาจุฬาราชมนตรี(สน) สองคนพี่น้องนี้หาได้มีบุตรธิดาสืบเชื้อสายไม่ ส่วนพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) วงศ์เฉกอะหมัดชั้นที่ ๔ ได้แต่งงานกับ ท่านแฉ่ง ธิดาเจ้าพระยารัตนาธิเบศ ที่สมุหพระกลาโหม มีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน คือ ธิดาชื่อ แก้ว บุตรชื่อ เชน และเสน มีบุตรกับภรรยาอื่นอีก ๑ คน ชื่อ หนู พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีความตอนหนึ่งว่า "ณ เดือนแปดแรมสิบค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก จนสะอึกสามชั้น ต่อกลางคืนตีสิบเอ็ดจึงคลาย ครั้นเดือนสิบสองขึ้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโพธน์พระพุทธบาท เป็นกระบวนรับเสด็จพัก ณ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนบ่อโศก เพลาเย็นเสด็จไปถึงท้ายพิกุล ครั้นสมโพธน์พระพุทธบาทครบเจ็ดวันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพพระนครศรีอยุธยา" ในการเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทครั้งนั้น ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนคงยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวหายประชวร ต่างคนก็ต่างอยากตามเสด็จ แต่พระยาเพ็ชร์พิไชย(ใจ) ไม่มีชื่ออยู่ในจำนวนที่โปรดให้ตามเสด็จในกระบวน พระยาเพ็ชร์พิไชยจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตามเสด็จด้วย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่าพระยาเพ็ชร์พิไชยเป็นแขก ไม่ควรไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมาเข้ารีดไทย จึงจะให้ตามเสด็จ พระยาเพ็ชร์พิไชยกราบบังคมทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระบรมราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาเพ็ชร์พิไชยตามเสด็จไปด้วย ครั้นเสด็จถึงพระพุทธบาทแล้ว พระยาเพ็ชร์พิไชยได้รับศีล ปฏิญาณ เป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นี่เป็นต้นเหตุให้วงศ์เฉกอะหมัดละศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา และเมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย และให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย
|
Copyright © 2005 Bunnag.in.th
All rights reserved. |