คำว่าสกุลที่เราใช้กันนี้ มาจากคำ กุล ในภาษาบาลี หรือคำ สกุลย ในภาษาสันสกฤต แปลว่า วงศ์ หรือ พันธุชน หรือญาติ หรือฝูงชนซึ่งเกิดร่วมชาติกัน คนทุกคนจึงเป็นผู้มีสกุล และทุกคนเป็นกุลบุตรหรือกุลธิดาเหมือนกันทั้งนั้น เขามักจะกล่าวกันว่า คนนั้นเกิดในสกุลเก่า คนนี้เกิดในสกุลใหม่ แต่อันที่แท้นั้นสกุลทุกสกุลจะว่าเก่าทั้งนั้นก็ได้ หรือจะว่าใหม่ทั้งนั้นก็เห็นจะถูก ที่ว่าเก่าทั้งนั้นก็ได้นั้น เพราะสกุลที่นึกกันว่าใหม่ ที่แท้เป็นสกุลที่ต่อเนื่องมาจากสกุลเก่า แต่เจ้าของสกุลไม่ทราบว่ามาจากสกุลใด เลยตั้งวงศ์กันขึ้นใหม่ ที่ว่าใหม่ทั้งนั้นก็ถูกนั้น เพราะคนไทยเพิ่ง มาใช้นามสกุลกันขึ้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ นี้เอง คำว่าสกุลเก่ากับสกุลใหม่มีความหมาย ต่างกันเพียงว่าสกุลเก่านั้น เป็นสกุลซึ่งบุตรหลานเหลน รู้จักชื่อบรรพชนของตนย้อนขึ้นไปได้หลายชั่วคน ส่วนสกุลใหม่นั้นเป็นสกุลซึ่งบุตรหลานเหลนรู้จักชื่อบรรพบุรุษ และบรรพสตรีของตนย้อนขึ้นไปได้น้อยชั่วคน ธรรมชาติของคนเรานั้นถ้ายิ่งไม่ตั้งใจจดจำด้วยแล้ว พอเวลานานเข้า คนเกิดมาภายหลังก็ลืมคนที่ตายไปก่อนๆ สกุลซึ่งคนชั้นหลังจะรู้จักชื่อคนชั้นก่อนได้ จึงต้องเป็นสกุลซึ่งคนชั้นก่อนมีชื่อเสียงมาแล้ว บุตรหลานเหลนจึงจดจำกันไว้ได้

สกุลบุนนาค นับว่าเป็นสกุลที่เก่าแก่ บรรพชนของสกุลบุนนาคสืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมานานจากชาวเปอร์เซียมีนามว่า เฉกอะหมัด ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เรื่อง เฉกอะหมัด ฉบับของ พระยาโกมารกุลมนตรี กล่าวไว้ว่า
"ในวงศ์เฉกอะหมัดนั้น คนชั้นหลังไม่ใช่แต่รู้จักชื่อคนชั้นก่อนอย่างเดียว ยังซ้ำจดจำประวัติเรื่องราวของคนชั้นก่อนไว้ได้ด้วย ที่จำได้ดีก็เพราะเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด ได้ทำชื่อเสียงต่อเนื่องกันยืดยาวอย่างที่กล้ากล่าวได้ว่าไม่มีวงศ์ใดเหมือน พวกนี้ได้ครองตำแหน่งเสนาบดี อันถือกันว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการแผ่นดินตลอดมา โดยไม่มีเว้นสักชั่วคนเดียว นับแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา มาถึงกาลบัดนี้อันเป็นเวลาถึง ๓๓๗ ปี"

ประวัติเรื่องวงศ์เฉกอะหมัดนี้ปรากฎในหนังสือ "จดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค" ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียงไว้มีความตอนหนึ่งว่า
"เดิมท่านเศรษฐีแขกสองคนพี่น้องเป็นแขกชาติมะห่น และเป็นชาวเมืองกุมในแผ่นดินเปอร์เชีย ท่านผู้พี่ชื่อเฉกอะหมัด ท่านผู้น้องชื่อมหฺหมัดสะอิด สองคนพี่น้องเป็นหัวหน้าพ่อค้าใหญ่ฝ่ายแขกทั้งปวง ท่านทั้งสองเป็นต้นเหตุพาพวกลูกค้าแขกชาติมะห่นคือแขกเจ้าเซ็น เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สยามประเทศ ในเมื่อ จุลศักราช ๙๖๔ ปีขาล จัตวาศก เมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงธรรมมหาประเสริฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒๒ ในกรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ"

เรื่องปีเสวยราชย์ของพระเจ้าทรงธรรมนั้น ตามหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๕๕ ส่วนปีจุลศักราช ๙๖๔ นั้น ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๔๕ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๑๔๘) ขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติสุข เพราะต้องทำสงครามกับพม่า ท่านเฉกอะหมัดจะเข้ามาตั้งห้างค้าขายในสมัยนั้นหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐาน ที่บ่งให้แน่ชัด เรื่องระยะเวลาปี พ.ศ. ยังคลาดเคลื่อนอยู่มากและไม่ตรงกัน

 
1 | 2 | 3

 

 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.