![](images/story/bar01.gif)
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) กุลเชษฐ์แห่งสกุลบุนนาคได้จัดการประชุมวงศ์ญาติแห่งสกุล
เพื่อให้พี่น้องได้มาพบปะวิสาสะกัน ที่วัดประยูรวงศาวาส ณ ตึกแบบโกธิก ชื่อ
"พรรณนาคาร" ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างเป็นอนุสรณ์ให้แก่ท่านผู้หญิงพรรณ
ภริยาสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
|
วงศ์ญาติที่ได้รับเชิญมาร่วมประชุมคราวนี้ มีมาจากทุกสกุลที่เป็นเชื้อสกุลวงศ์จากท่านเจ้าพระยามหาเสนา
(บุนนาค) ผู้เป็นต้นสกุล และภริยาคือ ท่านผู้หญิงหรือเจ้าคุณพระราชพันธุ์
(นวล) ซึ่งเป็นน้องของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑
พวกญาติเหล่านี้มีสกุลที่สืบมาจากบุตรของเจ้าพระยามหาเสนา
(บุนนาค) แต่มิได้เกิดจากเจ้าคุณพระราชพันธุ์ นวล คือสกุลศุภมิตร,
จาติกรัตน์, บุรานนท์ และราชสกุลฉัตรกุล เป็นต้น
ส่วนสกุลฝ่ายราชินิกุล ซึ่งเป็นพี่ชายและน้องสาวของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
และเจ้าคุณพระราชพันธุ์ นวล คือ ชูโต สวัสดิ์-ชูโต แสง-ชูโต และ ณ
บางช้าง ก็ได้รับเชิญมาพร้อมเพรียงกัน
ส่วนพวกที่อยู่ในสกุล ณ นคร ที่เป็นลูกหลานของเจ้าพระยามหาสิริธรรม
(น้อยใหญ่ ณ นคร) และภริยาคือ ท่านผู้หญิงเผือก ธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
(ดิศ บุนนาค) นั้นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า โกมารกุล ณ นคร ก็ถือว่าเป็นญาติสนิทในสกุลบุนนาค
อีกสกุลหนึ่งคือ สกุลจาตุรงคกุล ซึ่งเป็นบุตรหลานของพระยาเสน่หามนตรี
(น้อยเอียด ณ นคร) และภริยาคือ คุณปลัดเสงี่ยม หรือคุณหญิงเสงี่ยม
เสน่หามนตรี ผู้เป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
ก็เป็นหลานของเจ้าคุณพระราชพันธุ์แก้ว ต้นสกุล ณ บางช้าง
|
จึงนับเป็นญาติอันสนิท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลพวกนี้ว่า
"จาตุรงคกุล" เพราะเป็นสกุลเดียวที่มีบรรพบุรุษและสตรีสืบลงมาจาก
๔ สกุลใหญ่ คือ บุนนาค, ชูโต, ณ บางช้าง และ ณ นคร
ส่วนสกุล บุณยรัตพันธุ์ บางสาย มีบรรพสตรีเป็นสกุลบุนนาคและชูโต
ก็ถือเป็นญาติที่ใกล้ชิดด้วย
ในการชุมนุมเครือญาติครั้งนี้พวกสกุล ณ บางช้าง ซึ่งเรียกว่าญาติบ้านนอก
ก็ลงมาร่วมชุมนุมจากอัมพวา สมุทรสงคราม เป็นจำนวนมาก
ญาติที่ได้รับเชิญมาในงานนี้มีมากมายเป็นจำนวนร้อย รวมทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
ได้พบปะสังสรรค์กันเป็นที่รื่นเริงสนุกสนาน
งานนี้มีถึง ๓ วัน มีอาหารและของว่างเลี้ยงและของชำร่วยแจกตลอดงาน
ในพระวิหารวัดประยูรวงศาวาส
ได้อันเชิญอัฐิของบรรพบุรุษบรรพสตรี มาให้ลูกหลานสักการบูชา ส่วนในพรรณนาคารได้จัดทั้งรูปปั้น
รูปเขียนและรูปถ่ายของบรรพบุรุษ อีกส่วนหนึ่งไปประดิษฐานไว้ และจัดตั้งโต๊ะเก้าอี้ไว้เป็นที่ประชุมวงศ์ญาติทั้งหมดที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์
(พร บุนนาค) เป็นสภานายก จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นปฎิคม
และพระยาสุรินทร์ราชเสนี (สาย บุนนาค) เป็นเลขานุการ
ผู้ที่มาร่วมในงานสังสรรค์นี้ จะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ
ซึ่งประกอบด้วยญาติผู้ใหญ่ที่มีความรู้พิเศษในเรื่องเครือญาติ ให้ประดับเข็มกลัดรูปโล่หรืออย่างที่ฝรั่งเรียกว่า
Code of Arms อย่างเล็ก มีรูปช้างสีขาวอยู่ด้านบน ติดมากับโบสีต่าง ๆ ซึ่งกำหนดให้สกุลบุนนาค
หรือผู้ที่เป็นลูกหลานเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ได้ติดโบสีแดง
สกุลชูโต สวัสดิ์-ชูโต และ แสง-ชูโต ประดับด้วยโบสีม่วงตามชื่อของคุณหญิงม่วง
ซึ่งเป็นบรรพสตรีของสกุล สกุล ณ บางช้างให้ใช้โบสีขาว ตามชื่อของบรรพสตรีคือ
เจ้าคุณพระราชพันธุ์แก้ว สกุล ณ นคร ที่มีเชื้อสายบุนนาค, ชูโต และ ณ บางช้าง
ได้ประดับโบสีเขียว ส่วนรูปช้างที่อยู่ด้านบนของเข็มนั้น เข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเจ้าพระยามหาเสนา
(บุนนาค) หรือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เพราะตราประจำตัวของเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี
(ท้วม บุนนาค) และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ก็มีรูปช้างอยู่ด้านบนด้วยเช่นกัน
เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) และพระยาราชสมบัติ (เอิบ
บุรานนท์) ซึ่งสืบสายสกุลมาจากเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) และอนุภรรยา ก็ให้ประดับเข็มและโบสีแดงเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในสกุลบุนนาค
สมาชิกบางคนได้รับแจกเข็มและโบหลายสี เพราะสืบสกุลมาจากหลายสกุลอย่างเช่นพวกสกุล
จาตุรงคกุล จะได้รับถึง ๔ สี จนเจ้าพระยาภาสกรวงศ์พูดล้อพระยาจาตุรงค์สงคราม
(สงกรานต์ จาตุรงคกุล) ว่าทำไมไม่นับสายขุนหลวงตากเข้าไปด้วย จะได้เป็นเบญจรงคกุล
เพราะบรรพสตรีท่านหนึ่งของสกุลนี้เป็นพระธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าพงศ์นรินทร์
พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
![](images/activities/01-1.jpg)
ญาติสมาคมที่ตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
ถ่ายรูปร่วมกันหน้าพรรณาคาร ใน พ.ศ. ๒๔๕๔
โปรดสังเกตรูปช้างที่อยู่บนหลังคาอาคารนั้นเป็นสัญลักษณ์ของสกุลบุนนาค
งานประชุมเครือญาติคราวนี้ สำเร็จเรียบร้อยเป็นที่สนุกสนานพอใจของทุกคน
แต่หลังจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว งานชุมนุมเครือญาตินี้ก็ได้ล้มเลิกไป
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบพระชันษา ชมรมสายสกุลบุนนาคจึงได้จัดการรวมตัวชุมนุมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อสำแดงความจงรักภักดี
โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ และนำรายได้จากกิจกรรมนี้ขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายหนังสือ "สกุลบุนนาค" ซึ่งชมรมได้จัดทำขึ้น
สกุลบุนนาคและเครือญาติ จะได้ทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่ในสกุลนี้ดีขึ้นจากหนังสือ
"สกุลบุนนาค" ซึ่งชมรมได้จัดทำขึ้นด้วยความพิถีพิถันงดงาม ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ที่สุด
แต่ก็เป็นหลักฐานแสดงถึงความสำเร็จและประโยชน์ที่สมาชิกในสกุล ได้ปฏิบัติเพื่อประเทศชาติ
และได้ถวายความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีมาถึง ๙ รัชกาล
บทความโดย คุณนัดดา อิสรเสนา
ณ อยุธยา
|
|