ศรีศักร วัลลิโภดม | เปิดประเด็น
เหตุอย่างหนึ่งของรากเหง้าความขัดแย้งในสังคมไทยทุกวันนี้ก็คือเรื่อง ความเป็นคนไทย ที่มักให้เป็นข้ออ้างในเรื่องสิทธิของการเป็นประชาชนชั้นที่หนึ่ง เพื่อเอารัดเอาเปรียบคนด้อยโอกาสในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ตราประจำตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค) ตราสุริยมณฑลแบบไทย
|
ความเป็นคนไทยทุกวันนี้มีฐานของคำอธิบายจากประวัติศาสตร์รัฐ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แนวตั้งและเชิงเดี่ยว
ที่เจ๊กกบฏผู้เป็นกุนสือของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นเผด็จการทางวัฒนธรรมแต่งขึ้น
ใช้เล่นละครปลุกกระแสชาตินิยม และกำหนดให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน
จนถึงขั้นอุดมศึกษาของประเทศที่ยังทรงอิทธิพลมาจนทุกวันนี้
การเป็นประวัติศาสตร์แนวตั้งและเชิงเดี่ยวเช่นนี้ ความสำคัญอยู่ที่การกำหนดความเป็นคนไทยจากชาติพันธุ์เดียว
(Ethnicity) ในลักษณะที่เป็นเชื้อชาติ (Race) คือ ชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายกันมาจากสายเลือดที่ผิดความเป็นมนุษย์
ในทางวิทยาศาสตร์ เพราะในพัฒนาการทางสังคมของมนุษยชาตินั้น การสืบเนื่องของความเป็นคนที่เป็นสัตว์สังคมนั้น
หาได้มาจากสายพันธุ์เดียวไม่ หากเกิดจากทั้งการสืบสายเลือด (Blood
Tie) หรือ (Agnatic Relationship) กับการดองกันทางการแต่งงาน (Affiant
Tie) หรือ (Cognatic Relationship) โดยเฉพาะความสัมพันธ์จากการกินดอง
(Cognatic Relationship) นี้ ทำให้การแต่งงานเป็นสถาบันสากลของมนุษยชาติ
การแต่งงานเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ ที่มีแต่การสมสู่และสำส่อนอย่างเช่นคนไทยรุ่นใหม่ประพฤติกันในทุกวันนี้ |
ประวัติศาสตร์แนวตั้งและเชิงเดี่ยวที่กล่าวมาแล้ว ได้กลายเป็นตำนานที่คนส่วนใหญ่ในชาติเชื่อว่าเป็นจริง และใช้อ้างอิงในการอธิบายความเป็นคนไทยของคนเรื่อยมา พลังของประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับนโยบายเชื้อชาตินิยมในการเปลี่ยนชื่อ
ประเทศสยาม ที่เคยมีมาแต่เดิมเป็นประเทศไทย เพราะเอาชาติพันธุ์เดียว คือ ไท เป็นตัวกำหนด แตกต่างไปจากสมัยก่อนที่มีมาแต่สังคมศักดินาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มองคนกับดินแดนเป็นสำคัญ
ทำให้ผู้คนในประเทศที่หลากหลายทางชาติพันธุ์มีสำนึกร่วมของการอยู่ในแผ่นดินเดียวกันในนามของชนชาติสยาม
สยามเทศะมีมาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 เพื่อแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ทางการปกครองและวัฒนธรรม
ท่ามกลางความหลากหลายของดินแดนที่เป็นบ้านเมืองอื่นๆ เช่น รามัญเทศะ กัมพูชาเทศะ
ชวา มลายู และอื่นๆ อย่างไรก็ตามความต่างกันของคนกับดินแดนในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง
รากฐานของการมีผู้คนที่หลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันในประเทศเดียวก็คือ
ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และพม่า ซึ่งไม่สามารถบูรณาการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้สนิทแน่นเท่ากับประเทศสยาม
จึงมีลักษณะที่นักวิชาการประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ยุคก่อนๆ เรียกสังคมของประเทศเหล่านั้นว่า
สังคมพหุลักษณ์ (Heterogeneous) ต่างไปจากสังคมประเทศสยามที่เป็นสังคมเอกลักษณ์
(Homogeneous) เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะประเทศที่เป็นสังคมพหุลักษณ์นั้นมักเอกชาติพันธุ์ชวามากกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ
หรือประเทศพม่า แต่เดิมก็เน้นชาติพันธุ์พม่าเหนือชาติพันธุ์อื่นที่เป็นมอญ
ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ยะไข่ อะไรทำนองนั้น
แต่สังคมสยามได้สร้างระบบศักดินาหรือขุนนางขึ้นมาให้เป็นชาติพันธุ์พิเศษที่เรียกว่า คนไทย หาใช่ยกชาติพันธุ์ไทมาเป็นใหญ่เหนือชาติพันธุ์อื่นไม่ เข้าใจว่าการเป็นคนไทยนั้นเน้นอยู่ที่การใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางที่สำคัญเป็นเรื่องใหญ่
ระบบศักดินา คือ แก่นแท้ของการบูรณาการคนจากชาติพันธุ์ต่างๆ
ที่เข้ามาในสยามประเทศ ซึ่งสามารถทำความเจริญให้แก่บ้านเมืองได้มาเป็นขุนนาง
ข้าราชการ เป็นชนชั้นผสมที่เรียกว่า คนไทย หาใช่เป็นชาติพันธุ์ ไท ไม่ นี่คือ
ที่มาของคำว่าคนไทยที่มียอยักษ์กับคนไทที่ไม่มียอยักษ์
ความเป็นคนไทยแบบนี้มีมาแล้วแต่สมัยอยุธยา ตอนปลายที่ในจดหมายเหตุของพวกฝรั่งบันทึกไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงบอกว่า พระองค์ทรงเป็นคนไทย ยิ่งกว่านั้น พวกฝรั่งยังได้บันทึกตำนานความเป็นมาของปฐมกษัตริย์ไทย ที่มาจากเมืองคนไทยและเมืองเพชรบุรีไว้ด้วย
ซึ่งก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างบ้านเมืองต่างๆ ทั้งที่มาจากภายในทางส่วนบนของประเทศ
และที่มาจากถิ่นฐานบ้านเมืองชายทะเล เช่น นครศรีธรรมราช กุยบุรี เพชรบุรี
เป็นต้น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
|
อันเรื่องราวของปฐมกษัตริย์ในตำนานนี้ ถ้าตีความกันทางมานุษยวิทยาก็ต้องเข้าใจว่า
หาใช่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริงไม่ หากเป็นผู้นำวัฒนธรรม
ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อว่าเป็นจริง อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่สร้างขึ้นจากความทรงจำของคนในยุคหลัง
ที่ไม่สามารถบ่งบอกเวลาที่แน่นอนได้ เพราะเป็นเรื่อง เล่าขาน กันลงมาต่อเมื่อมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์ลงในสมุดข่อย หรือใบลาน โดยพวกพระสงฆ์หรือผู้ที่เป็นปราชญ์แล้ว
จึงได้มีการใส่เวลาวันเดือนปีกันขึ้น
เรื่องราวของผู้นำวัฒนธรรมนี้เป็นของส่วนรวม
แต่มีการปรุงแต่งให้มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามพื้นที่ พื้นถิ่น จนไม่สามารถบอกได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่เดิมนั้นเป็นอย่างไร
ความเป็นคนไทยนับว่าเป็นผลผลิตที่สร้างขึ้นในสังคมศักดินา ที่มีมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เป็นยุคที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์เป็นราชอาณาจักรสยาม จำเป็นต้องสร้างระบบราชการ
(Bureau crazy) ขึ้นมาเป็นเครื่องมือทำให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ
ทั้งสูงและต่ำต้องมีสถานภาพ ตำแหน่ง ฐานะ สิทธิ และอำนาจแน่นอนในกรอบแบบแผน
บุคคลเหล่านี้นับเรื่องในชนชั้นปกครองที่ต่างไปจากประชาชนทั่วไป ที่เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน |
ระบบราชการศักดินามีอะไรที่คล้ายๆกับระบบขุนนางจีนในการเลือกคนดีเข้ารับราชการ
แต่ต่างกันในแง่ที่จีนมีระบบการสอบที่เรียกกันว่า จอหงวน แต่ทางอยุธยาเลือกจาก หนึ่ง คนที่ใกล้ชิดมีเทือกเถาเหล่ากอที่ไว้ใจได้กับ สอง คนที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ
ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยไม่คำนึงถึงความเป็นทางชาติพันธุ์ โดยเหตุนี้สังคมสยามจึงมีช่องทางและบันไดที่ทำให้คนต่างชาติต่างถิ่น
เข้ามาเป็นข้าราชการขุนนางในนามของคนไทยได้
ความเป็นคนไทยนี้แท้จริงแล้วมีรากเหง้ามาจากพัฒนาการทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองและผู้คนแต่สมัยพุทธศตวรรษที่
12-13 ลงมา ที่เรียกรวมๆว่า สมัยทวารวดี อัตลักษณ์ของสมัยทวารวดีและสังคมทวารวดีนั้น
คือ การนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทหรือหินยานเป็นหลัก แม้ว่าต่อมาในพุทธศตวรรษที่
13 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 จะมีศาสนาฮินดูแลพุทธมหายานตันตริกเข้ามาผสมผสานด้วยก็ตาม
แต่แก่นแท้ก็ยังเป็นเถรวาทนั่นเอง ซึ่งแลเห็นได้จากพระพุทธรูปแบบทวารวดี
อู่ทอง สุโขทัย เชียงแสน และอยุธยาตามลำดับ รวมทั้งคติการเป็นพระสมมุติราชของพระมหากษัตริย์ที่สะท้อนมาจากกฎหมายตราสามดวง
ลิลิตโองการแช่งน้ำ ไตรภูมิ และทศชาติ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อมีการรวมนครรัฐที่แต่ล้วนเป็นอิสระในดินแดนสยามประเทศ เป็นราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่
21 นั้น พระพุทธศาสนาเถรวาท ก็คือ ศาสนาหลักของชนชาติสยามประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือ
มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมสมัยทวารวดีมาเป็นพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์
สำหรับผู้คนที่อยู่ในดินแดนสยามนี้ก็หาได้เป็นแบบเดิม กลุ่มเดิม ที่มีมาแต่สมัยทวารวดีไม่
หากมีกลุ่มใหม่หลายชาติพันธุ์และถิ่นฐานเคลื่อนย้ายเข้ามา
ทว่า ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ดังกล่าวนี้
ผู้คนในสยามประเทศเลือกใช้ภาษาไทเป็นฐานในการสร้างภาษากลาง เพื่อสื่อสารกันเองและรวมไปถึงการลังสรรค์กับคนภายนอกด้วย
ทั้งพุทธเถรวาท ทั้งภาษาไท และระบบศักดินา ทั้งหลายอย่างนี้คือ สิ่งที่ทำให้ผู้คนมีการผสมผสานและบูรณาการความเป็นไทยขึ้น
ดังนั้น หากพูดกันถึงความเป็น คนไทย แล้ว ก็จะต้องมองไปในเรื่องบูรณาการอันเกิดจากพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีมาแต่สมัยนครปฐมทวารวดี
การใช้ภาษาไทเป็นภาษากลางที่ผู้คนในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 เกือบทั้งประเทศใช้สื่อสารกัน
และสุดท้าย คือ ระบบศักดินาที่มีมาแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง คือ ราวพุทธศตวรรษที่
21 ลงมา
คำว่า "ไทย" มีปรากฏในจารึกสุโขทัยแต่พุทธศตวรรษที่
14 ในลิลิตยวนพ่าย พุทธศตวรรษที่ 21 และในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23 คือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์
ก็มีปรากฏในเอกสารบันทึกของชาวฝรั่งเศสและบันทึกของโกษาปานตอนไปฝรั่งเศสที่พูดถึงกรุงไทยและพระมหากษัตริย์ไทย
ความเป็นคนไทยดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในดินแดนสยามประเทศที่เป็นมาตุภูมิ ที่แม้จะมีคนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาตั่งถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา
แต่เมื่อมาอยู่รวมกันตั้งแต่สามชั่วคนขึ้นไป เกิดลูกหลานเป็นเหล่าเป็นกอแล้ว
ความเป็นคนไทยก็เกิดขึ้นในสำนึก ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแต่พุทธศตวรรษที่
23 ลงมา บ้านเมืองรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ มีชนชาติหลากหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานเป็นแผ่นดินเกิดของลูกหลาน
พระมหากษัตริย์และสังคมสยามก็หารังเกียจไม่ ยินดีที่จะให้ความสะดวกสบายและต้อนรับให้เป็นประชาชนพลเมือง
สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่
|
ดังที่ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. อศิน รพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยาอาวุโสได้อธิบายไว้ว่าสังคมไทยสมัยก่อนต้องการคนจากถิ่นต่างๆ
ที่เพื่อเอามาเป็นพลเมืองการมีกำลังคนมาก คือ สิ่งที่รัฐต้องการแต่รัฐสยามก็มองอะไรสูงกว่านั้นก็คือ
การเลือกเฟ้นและต้อนรับคนต่างชาติต่างถิ่นที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ
มาช่วยราชการหน้าเมือง เหตุนี้จึงมีบรรดาขุนนางข้าราชการที่เป็นคนต่างชาติ
เข้ามาเป็นขุนนางดำรงตำแหน่งทั้งสูงและต่ำมากมาย คนเหล่านี้และลูกหลานก็คือ
คนไทยนั่นเอง
สภาพของสังคมไทยสมัยอยุธยาตอนปลายนี้ยังแตกต่างไปจากสมัยก่อนๆ โดยสิ้นเชิง
เพราะมีจำนวนประชากรมากขึ้นอันเนื่องจากมีคนกลุ่มใหม่ๆ ย้ายเข้ามาผสมผสาน
มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การค้าขายทางทะเลที่ทำให้วิถีชีวิตและรูปแบบของการเป็นอยู่แตกต่างไปจากเดิม
ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ภาพรวมๆ ว่าเป็นวัฒนธรรมกฏุมพี คือ เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นแทนที่จะมีเพียงชนชั้นกฏุมพีแทรกอยู่ระหว่างกลาง
ในลักษณะที่ผสมผสานกับทั้งทางชนชั้นล่างและชั้นบน ชั้นกฏุมพีนี้ คือ
ที่มาของชนชั้นกลางที่ปรากฏตัวอย่างเห็นชัดแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา
ข้าพเจ้าคิดว่า ชนชั้นกฎุมพีนี่แหละคือ คนไทย
และบรรดาขุนนาง ข้าราชการที่เป็นเจ้าขุนมูลนายเป็นจำนวนมากก็คือ ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ชาวต่างชาติที่ดำรงตำแหน่งสูงๆ
และสำคัญของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นแขก เจ๊กจีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น ชวา มลายู
อะไรต่างๆ หลายคนกลายเป็นต้นโคตรหรือผีเก้าของตระกูลขุนนางสำคัญๆ ที่นับชื่อเสียงเรียงนามอย่างสืบเนื่องในสังคมสมัยรัตนโกสินทร์
|
ตระกูลขุนนางที่สำคัญและมีอำนาจและบารมียิ่งใหญ่ของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่
1 ลงมาจนถึงรัชกาลที่ 5 คงไม่มีใครเกิน ตระกูลบุนนาค ซึ่งในปัจจุบันมีประวัติและตำนานการสืบเชื้อสายกันมานาน กล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็น โคตรวงศ์
คำว่าโคตรวงศ์นี้เปรียบคล้ายๆ กับคำว่า "แซ่" (Clan) ในสังคมจีนที่อ้างถึงการสืบเชื้อสายมาจากต้นโคตร
ซึ่งสามารถสืบเชื้อสายทางฝ่ายพ่อแต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัยได้อย่างค่อนข้างชัดเจน
แต่ของคนไทยในสังคมกฏุมพีนั้น คนที่เป็นต้นโคตรถึงแม้ว่าจะมีตัวตนจริงแต่การสืบเชื้อสายนั่นไม่ชัดเจน
เพราะอาจจะนับทางฝ่ายพ่อหรือแม่ก็ได้ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างตัวโคตรกับบุคคลที่เป็นต้นตระกูลนั้นไม่ชัดเจนและเล่าผ่านคำบอกเล่าที่เป็นตำนาน
ในกรณีตระกูลบุนนาคนั้น เชื่อว่าต้นโคตรคือ ท่านเฉกอะหมัดหรือเจ้าพระยาบวรราชนายก อัครเสนาบดีสมัยอยุธาตอนปลาย เป็นแขกเปอร์เซียที่เป็นพ่อค้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา
ได้เข้ามารับราชการดำรงตำแหน่งสำคัญในเรื่องการค้าทางทะเลและการเมืองการปกครอง
ในเขตหัวเมืองชายทะเลไปจนถึงภาคใต้
โดยย่อก็คือเป็นขุนนางคนสำคัญที่คุมกำลังคนและกิจการต่างๆ ทางกลาโหมและการท่า
ที่มีลูกหลานสืบเชื้อสายกันต่อมาคนหนึ่งในเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัดก็คือ
นายบุนนาคซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนายบุญมา ผู้มีตำแหน่งเป็นนายสุดจินดาหุ้มแพร
มหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นสามีของท่านนวลผู้เป็นน้องสายของท่านนาค
ภริยาของนายทองด้วงผู้มีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ในสมัยรัชกาลที่
1 นายบุญมาก็คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และนายทองด้วงก็คือ พระบาทสามเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และนายบุนนาคก็คือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา
สมุทรพระกลาโหม ผู้ควบคุมทั้งการค้าทางทะเลและทางทหาร การปกครองทางหัวเมืองชายทะเลและภาคใต้
นับเป็นต้นตระกูลบุนนาค ลูกหลานของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา จึงมีฐานะเป็นราชินิกุลเป็นที่สนิทชิดเชื้อกับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
ได้รับใช้และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนนางสำคัญของแผ่นดินเรื่อยมา
จากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เชื้อสายของตระกูลบุนนาคสองท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ
สองท่านที่นับเป็นตำแหน่งขุนนางที่สูงที่สุดในแผ่นดิน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ อนุสรณ์สำคัญของสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง 2 ท่านนี้ก็คือ วัดประยูรวงศ์และวัดพิชัยญาติที่เป็นวัดสำคัญ
สร้างในย่านที่อยู่อาศัยของคนในตระกูลบุนนาคตรงปากคลองบางหลวงและคลองสาน
ฝั่งธนบุรี
ในเรื่องเล่าขานกันในตระกูลบุนนาคยุคนี้แยกออกเป็น 2 วงศ์คือ สุริยวงศ์ ของสมเด็จเจ้าพระยาองค์พี่และ จันทรวงศ์ ของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อง ครั้นตอนปลายสมมัยรัชกาลที่
4 ต้นรัชกาลที่ 5 ก็เกิดสมเด็จเจ้าพระยาอีกท่านหนึ่งคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชายของสมเด็จเจ้าพระองค์พี่
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ตระกูลบุนนาคมีบทบาทสำคัญที่สุดทางการเมืองในการสืบราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์
อันเนื่องมาจากกลุ่มอำนาจในแผ่นดินแยก ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวังหลวงของรัชกาลที่3
กลุ่มของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และกลุ่มบุนนาคของสมเด็จเจ้าพระยาสองพี่น้อง
กลุ่มตระกูลบุนนาคคือ ผู้ที่ดำเนินการทั้งการขจัดความขัดแย้งที่จะทำให้เกิดความรุนแรงและในขณะเดียวกันก็รักษาอำนาจของตนเองไว้
ด้วยการเป็นผู้ทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามหามงกุฏ ซึ่งผนวชเป็นพระสงฆ์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชการที่
4 และประนีประนอมกับกลุ่มของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ด้วยการยอพระยศเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่
2 มีวังหน้าเป็นพระราชสถาน
สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย
|
ทั้งวังหน้าและวังหลวงต่างก็มีความสัมพันธ์กินดองเป็นเครือญาติ กับตระกูลบุนนาคด้วยกัน
โดยเฉพาะทางวังหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
4 ทรงขอท่านเจ้าคุณแพ ผู้เป็นหลานสาวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ให้เป็นพระชายาองค์แรกของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจุฬาลงกรณ์ พระบรมราชโอรส
ผู้ต่อมาเสวยราชเป็นรัชกาลที่ 5 ในขณะที่ทางวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงสนิทสนมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นพิเศษ ถึงกับทรงให้พระราชโอรสองค์โต
คือ พระองค์เจ้ายอร์จวอชิงตัน มาเรียนฝึกราชการกับสมเด็จเจ้าพระยา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต ได้ทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจุฬาลงกรณ์ผู้เสวยราชสมบัติยังทรงมีพระชันษาน้อยอยู่
เพื่อขจัดความขีดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ได้ทูลเสนอให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งปิโนรสหรือ ยอร์จวอชิงตัน
พระโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรมพระราชวังบวรวิขัยชาญ
ก็ดูไม่เป็นที่สบอารมณ์ชองพวกวังหลวง เพราะแลเห็นว่าทางวังหน้าต่ำศักดิ์กว่า
ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาฯต้องแสดงอำนานเด็ดขาดด้วยการปราม จึงสบงไป แต่ความรู้สึกขัดเคืองก็ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง
เพราะเป็นการขัดแย้งทั้งในเรื่องอำนาจและความคิดที่เป็นช่องว่างระหว่างวัย
(Generation Gap)
|
สมเด็จเจ้าพระยาฯ นั้น นับเป็นผลผลิตของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ที่พยายามเรียนรู้วิชาการทางตะวันตกในด้านต่างๆ
ไม่ว่าการต่อเรือ การสร้างถนน การขุดคลอง และกิจกรรมทางพาณิชย์ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการขุดคลอง
การสร้างถนน สถานที่ทำการรัฐบาล วังและวัดในจังหวัดราชบุรีและอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเมืองการปกครองแบบตะวันตก
สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เรียนรู้แบบที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า
ให้เรียนรู้เข้าใจแต่อย่าเลื่อมใส
ตรงนี้เองทีทำให้คนรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาฯ แตกต่างไปจากคนรุ่นใหม่ในสมัยรัชกาลที่
5 เพราะคนรุ่นหลังนี้ดูเหมือนหายใจเข้าออกเป็นตะวันตกไปหมด
ขุนนางและเจ้านายที่เป็นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะฝายวังหลวงนี้เอง ที่ทำให้ความขัดแย้งกับวังหน้าและกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ
บานปลาย เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในวังหลวง ทางวังหน้าต้องเข้ามาช่วยดับไฟ
เพราะกองกำลังต่างๆในการป้องกันพระนครนั้นอยู่ที่วังหน้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ
เสด็จคุมกองกำลังช่วยดับไฟ แต่ถูกล่าวหาว่าเป็นกบฏเพื่อเข้ามายึดอำนาจ ทำให้ในที่สุด
กรมพระราชวังบวรฯ ต้องเสด็จลี้ภัยไปอยู่ในสถานทูตฝรั่ง เลยทำให้สมจริงกับคำกล่าวหาและข่าวลือ
ซึ่งทางวังหลวงก็ทำอะไรไม่ได้ ในที่สุดรัชกาลที่ 5 ต้องเชิญสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงวงศ์
ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ทางวังหน้าเคารพนับถือมาช่วยไกล่เกลี่ย เหตุการณ์จึงสงบได้
อันความขัดแย้งระหว่างวังหน้าและวังหลวงเช่นนี้ ถ้าหากสมเด็จเจ้าพระยาไม่รับช่วย
และหาโอกาสซ้ำเติมเพื่อประโยชน์ของท่านเองแล้ว ก็คงจะบานปลายเป็นผลร้ายแก่บ้านเมืองเป็นแน่เเท้
เพราะถ้าเอาเข้าจริงๆกองกำลังของวังหลวงคงไม่อาจเอาชนะกำลังข้างฝ่ายวังหน้าและฝ่ายตระกูลบุนนาคได้
นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เองที่แลเห็นประโยชน์และความสุขของส่วนรวมในฐานะที่ท่านเป็นคนไทย
ตระกูลบุนนาคนั้นเมื่อนับย้อนมาหลังไปถึงเจ้าโคตร คือ ท่านเฉกอะหมัด แล้วก็หาใช่คนไทยไม่
หากเป็นแขกที่มาจากเปอร์เซีย มีเชื่อสายสืบมาหลายสาย บางสายยังนับถือศาสนาอิสลามอยู่
แต่สายที่มาเป็นตระกูลบุนนาค นั่นคือ พวกที่เข้ามารับราชการเป็นขุนนางและเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา
เรานับเป็นตระกูลหนึ่งที่มีบทบาท ในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญด้วย
แต่ความเป็นคนไทยของคนในตระกูลบุนนาคนั้น ก็หาได้เป็นอยู่เพียงตระกูลเดียวไม่
หากยังมีตระกูลอื่นๆ ที่เป็นขุนนางที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าโคตรที่เป็นเจ๊ก
ฝรั่ง ญวน ลาว และเขมร แม้แต่สมัยรัชกาลที่ 6 เอง การที่คนต่างชาติกลายเป็นคนไทยดังกล่าวนี้ก็มีอยู่
อย่างเช่นในครอบครัวของเจ๊กหลายๆ ครอบครัวที่มีลูกหลายคน ลูกคนที่เข้ารับราชการมักได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทย
แต่คนอื่นที่ไม่เป็นข้าราชการก็มักเรียกเจ๊กกันอยู่ ปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่
ลูกเจ๊กหลานเจ๊กมากมาย เรียนสูง เรียนนอก เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมทรวงทบวงกรม
ก็มาก กลายเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี และนักธุรกิจใหญ่ๆ ก็มาก กลายเป็นคนไทยไปหมด
ดังเห็นได้จากเปลี่ยนชื่อแซ่มาใช้นามสกุลที่มีภาษาบาลีสันสกฤต สมาสกันเป็นวลียาวๆ
บุคคลเหล่านี้ที่ดีมีคุณธรรมก็มาก แต่ที่เลวเป็นพวกเจ๊กกบฏก็มาก เพราะหาได้เป็นคนไทยแบบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์แห่งตระกูลบุนนาคไม่
ที่มองเห็นความสำคัญของส่วนรวมของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว และของพรรคพวกพี่น้อง
ข้าพเจ้ามีความสะใจเป็นอย่างมากที่มีการยุบพรรคการเมืองที่เคยเป็นใหญ่ในแผ่นดินเมื่อเร็วๆ
นี้ เพราะมีนักการเมืองเป็นจำนวนมากที่เป็นเจ๊กกบฏที่หวังส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม
คัดจากจดหมายข่าว มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
ฉบับปีที่ 11 ฉบับที่ 66 เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2550
|