คุณหญิงนิ่ง บุนนาค
ถ่ายเมื่อ 7 พ.ย. 2551

เสด็จพระองค์ใหญ่ได้ประทานสิ่งของให้กับคุณหญิงนิ่ง จำนวนหลายหีบ มีทั้งผ้าไหม ผ้ายกจำนวนหลายพับ เครื่องใช้ครัวเรือน ประทานเป็นเครื่องนากทั้งชุด อาทิ ถาด พาน และเครื่องพวง เพื่อไว้ใช้สำหรับรับเสด็จเจ้านายที่มักเสด็จมาที่จวนท่านเทศาฯ (พระยาสุรพันธ์เสนีฯ) อยู่เนืองฯ นอกจากนี้ยังประทานเครื่องประดับเครื่องเพชรอีกหลายชนิด นับว่าคุณหญิงนิ่งได้รับสิ่งของประทานจากเสด็จพระองค์ใหญ่มากที่สุด

บรรยากาศวาระแห่งการจากรั้ววังสู่โลกภายนอก ซึ่งคุณหญิงนิ่ง มิเคยเผชิญมาก่อนเลยทำให้ "คุณหญิงนิ่ง" ต้องร้องไห้ปริ่มแทบขาดใจ ขณะที่เสด็จพระองค์ใหญ่ก็รู้สึกตื้นตัน มีน้ำพระเนตรคลอหน่วยด้วยอาลับยิ่งนัก

ฝ่ายเจ้าบ่าว (พระยาสุรพันธ์เสนี) ก็ตื่นแต่เช้ามืดขับรถมารอเจ้าสาวอยู่หน้าประตูวังตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ประตูวังยังไม่ได้เปิด พระยาสุรพันธ์เสนีต้องเดินไปเดินมาด้วยความกระวนกระวายจนกระทั่งสว่าง ประตูวังจึงเปิด ชาววังทั้งหลายในตำหนักช่วยกันขนสัมภาระขึ้นรถ และพร้อมที่จะรับตัวเจ้าสาว (คุณหญิงนิ่ง) เดินทางไปจวนเทศาฯ จังหวัดราชบุรี

ทันทีที่คุณหญิงนิ่ง ก้าวเท้าออกนอกรั้วประตูวังเท่ากับความเป็นผู้หญิงชาววังได้ขาดสะบั้นลงแล้วในนาทีนั้นเอง

บรรดาชาววังด้วยกันก็รู้สึกอาลัยต่อคุณหญิงนิ่ง เสียงร่ำไห้ร้องระงม ประหนึ่งโศกนาฏกรรม ขณะอยู่ในวังเธอถูกเรียกขานว่า "คุณนิ่ง" มาตลอด ตั้งแต่นี้ เมื่อพ้นไปจากประตูวังเธอกำลังถูกเปลี่ยนสรรพนาม เรียกขานใหม่ว่า "คุณหญิงสุรพันธ์เสนี หรือคุณหญิงนิ่ง"


พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค)
ในชุดนักโทษที่คุกบางขวาง พ.ศ.2477

พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) ขณะนั้นรับราชการตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ที่อยู่ใหม่ของคุณหญิงนิ่ง ก็คือจวนเทศาภิบาล จังหวัดราชบุรี

คุณหญิงนิ่ง เล่าว่า "สมัยอยู่ที่ราชบุรี เป็นคุณหญิงเจ้าคุณเทศาฯ ฉันใหญ่มาก ส่วนที่เมืองเพชรแวะมาบ้างแต่ไม่บ่อย เวลามาที่เมืองเพชรคุณบุญเลี่ยม เพ็ชรเกษตร มาหาบ่อยได้รู้จักกัน"

นับตั้งแต่ออกเรือนเป็นคุณหญิงสุรพันธ์เสนีโดยตำแหน่งเมื่อ พ.ศ.2472 ถึง พ.ศ.2476 เป็นเวลาเกือบ 5 ปี ชีวิตของคุณหญิงนิ่ง มีความสุขตามอัตภาพในฐานะคุณหญิงของเจ้าคุณเทศาฯ

คุณหญิงนิ่ง ประทับใจและคุ้นเคยกับชาวเพชรบุรีสามคนด้วยกัน ซึ่งบุคคลทั้งสามเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงคนสนิทของพระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค)

คนแรกชื่อ นายแถา พ่วงพูน เป็นคนรับใช้ใกล้ชิดและคนขับรถของพระยาสุรพันธ์เสนี ขณะเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี คนเมืองเพชรบุรีเรียกนายแถวว่า "นายแถวเจ้าเมือง" อันที่จริงเมืองเพชรในขณะนั้นชื่อ "นายแถว" มีสองคน คนหนึ่งฉายา "นายแถวเจ้าเมือง" อีกคนหนึ่งคือ "นายแถวรถม้า" นายแถวคนหลังเป็นลูกน้องคนสนิทของ "เถ้าแก่หรุ่น ลาภหลาย" เจ้าของโรงแรมมไหศวรรย์ โรงแรมแห่งแรกของเมืองเพชรตั้งอยู่ที่หน้าเขาวังเถ้าแก่หรุ่นยังเป็นเจ้าของคอกม้าของเมืองเพชร และเป็นเจ้าของรถม้าคันแรกในจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย สำหรับ "นายแถวเจ้าเมือง" คือบิดาของนายเกษม พ่วงพูน อดีตผู้จัดการไฟฟ้าภูมิภาคเพชรบุรี

คนที่สอง นายฉาย พราหมณ์เทศ พระยาสุรพันธ์เสนีขอเอามาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก รักและเอ็นดูประหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม นายฉายมีชาติกำเนิดที่บ้านไร่สวน ต.ท่าช้าง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เมื่อคราวพระยาสุรพันธ์ ถูกข้อหากบฏ พ.ศ.2476 นายฉาย พราหมณ์เทศ คนนี้ที่ขับรถพาเจ้านายหนี ขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงครสม ตามจับตัวที่เมืองเพชร

คนที่สามชื่อ นายสะอิ้ง แสงอรุณ เป็นคนท่ายาง คุณหญิงนิ่ง เล่าว่า "เจ้าคุณฯ รักนายฉายมาก เป็นคนซื่อ นายแถว ฉันก็ชอบกันคนเขาเรียกว่า"นายแถวเจ้าเมือง" นายสะอิ้ง เขาเป็นทนายหน้าหอของเจ้าคุณฯ คอยตีฆ้อง เมื่อได้เวลากินข้าวด้วย"

ต่อมาคนสนิทของพระยาสุรพันธ์เสนี ทั้งสามท่านได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย โดยนายแถว พ่วงพูน เสียชีวิต พ.ศ.2521 มีอายุ 70 ปี นายฉาย พราหมณ์เทศ เสียชีวิต พ.ศ.2548 อายุ 92 ปี และนายสะอิ้ง แสงอรุณ เสียชีวิต พ.ศ.2549 อายุ 97 ปี


พระยาสุรพันธ์เสนี และครอบครัว
ขณะลี้ภัยที่เมืองอลอสตาร์ พ.ศ.2482

พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดนคณะราษฎร์ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เข้ามาแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เชื้อพระวงศ์ ขุนนางเก่าและนายทหาร ส่วนหนึ่งแข็งขันโดยมีพระองค์เจ้าบวรเดชฯ เป็นหัวหน้า พ.ศ.2476 จึงลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไตย ทว่าพ่ายแพ้ จึงถูกเรียกว่า "กบฏบวรเดช"

พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) ถูกรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา ประกาศออกหมายจับข้อหากบฏพระยาสุรพันธ์เสนี ต้องหนีเข้าป่ากะเหรี่ยงเพื่อข้ามเขตแดนไปยังฝั่งพม่า ด้านตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แต่ก็ต้องถูกจับกุมได้ในที่สุดแล้วถูกส่งตัวไปจำคุกบางขวาง ในฐานะนักโทษการเมือง ภายหลังถูกส่งไปยังที่เกาะตะรุเตา

ครอบครัวคุณหญิงนิ่ง ถูกมรสุมการเมือง กระหน่ำอย่างรุนแรงหนักหนาสาหัส หัวหน้าครอบครัวต้องถูกจองจำชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายคุณหญิงนิ่ง วิ่งเต้นสู้คดีความ ทว่าห้วงเผด็จการทหารย่อมไม่เป็นผลใดๆ พระยาสุรพันธ์เสนีถูกจองจำนับแต่ปลายปี พ.ศ.2476 ถึง พ.ศ.2482 รวมเวลาประมาณ 6 ปี สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ดีขึ้นขณะจองจำบนเกาะนรกตะรุเตา พระยาสุรพันธ์เสนีและพวกนักโทษการเมืองกลุ่มหนึ่ง หนีออกจากเกาะนรกได้เพราะโชคช่วยและได้ไปลี้ภัยอยู่เมืองอลอสตาร์ ไทรบุรี และประเทศสิงคโปร์

คุณหญิงนิ่ง หญิงชาววังท่านนี้ ร่วมทนทุกข์กับพระยาสุรพันธ์เสนีมาโดยตลอด มิเคยตัดช่องน้อยแต่งพอตัว หนังสือฝันร้ายในชีวิตของข้าพเจ้าโดยพระยาสุรพันธ์เสนีบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า "...แม้ภรรยาข้าพเจ้าจะเป็นหญิงตัวเล็กๆ บอบบาง แต่น้ำใจของเธอก็อดทนทายาทจะลำบากยากแค้นอดอยากเพียงใด เธอมิได้ปริปากแม้แต่น้อย ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาเมื่อครั้งข้าพเจ้ารับราชการเป็นสมุหเทศาภิบาล จนถึงถูกต้องโทษจำคุกเป็นนักโทษการเมือง และต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอน จากพ่อแม่ญาติมิตรอันเป็นที่รักไปโดยเห็นแก่ข้าพเจ้าซึ่งกำลังรอคอยอยู่นอกประเทศ จะหาภรรยาเช่นนี้ได้ยาก ดังคำโบราณเรียกกันว่า "นางแก้ว" คือสามีมีสุขก็สุขด้วย เมื่อถึงยามทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วย ไม่ทอดทิ้งไปในยามที่สามีตกอับและลำเค็ญแสนสาหัส"

กระทั่งปลายปี พ.ศ.2488 ก็ได้รับอิสรภาพเดินทางกลับเข้าสู่ดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนได้ในที่สุด รวมระยะเวลาลี้ภัยในต่างแดนอีก 6 ปีเต็มๆ ซึ่งรวมแล้วพระยาสุรพันธ์เสนีมีชีวิตอยู่กับฝันร้ายนานถึง 12 ปี คุณหญิงนิ่ง ยิ่งฝันร้าย กว่า ลองคิดดูเถิดว่าหญิงชาววังและลูกน้อยที่หัวหน้าครอบครัวไม่รู้เป็นตายร้ายดี นานถึง 12 ปี ชีวิตของเธอและลูกจะเป็นเช่นใด


พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค)
ในวัยชรา เด็กน้อยในอ้อมแขน คือหลานตา คุณนวลศิริ ไวทยานุวัตติ

การได้กลับบ้านได้พบหน้าลูกแก้วเมียขวัญ คือสิ่งที่นักโทษการเมืองท่านนี้ปรารถนาเป็นที่สุด คนดีผีคุ้มเทวดาก็เปิดทาง พระยาสุรพันธ์เสนีได้พบกับ "เมียแก้ว" โดยไม่ได้นัดหมายมาก่อน

 




Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.