เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายความหมายของคำว่า "ราชินิกุล" ต่างกับคำว่า "ราชนิกุล" ดังนี้ ราชนิกุล หมายถึงเป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ราชินิกุล เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี ต่างกันอีกอย่างหนึ่ง คือ ราชนิกุล ย่อมเป็นเชื้อเจ้า เพราะสืบสายลงมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในพระราชวงศ์ร่วมสกุลอันเดียวกัน ดั่งใช้นามสกุลว่า ณ อยุธยา อยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ราชินิกุลนั้น เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ย่อมมีพระญาติเป็นสกุลอื่นต่างกันทุกองค์ ราชินิกุลจึงมีหลายสกุล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ทรงออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุล กำหนดให้ภายใน ๖ เดือน ให้หัวหน้าครอบครัวทุกครัวเรือน เลือกสรรถือเอาชื่อสกุลอันหนึ่งแล้วให้จดทะเบียนชื่อสกุลนั้น ณ ที่สำนักงานอำเภอท้องที่ของตน ฯลฯ พระราชบัญญัตินี้ทำให้คนไทยทุกคนในพระราชอาณาจักรสยาม ต้องมีนามสกุลใช้ และต้องเรียกขานชื่อตัวและชื่อสกุลตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา

ส่วนข้าราชบริพาร ข้าราชการ และเจ้านายทั้งหลายได้ขอพระราชทานนามสกุล กราบทูลประวัติของบรรพบุรุษ ของตน ตำแหน่งหน้าที่ราชการขอพระราชทานนามสกุล ให้เป็นศิริมงคลเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุล

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งสืบสายสกุลมาจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ขอพระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาคนวล" เพื่อให้มีนามเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และนามของเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ราชินิกุลบางช้าง ติดอยู่ในนามสกุล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาค" ให้บุตรหลานของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ใช้ได้ทุกคน ส่วนบุตรหลานของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ที่ปรารถนาจะตั้งสกุลขึ้นใหม่ ได้ขอพระราชทานนามสกุล และได้รับพระราชทานตั้งให้ใหม่ ได้แก่

๑. พระยาราชสมบัติ (เอิบ) บุตรพระยาวิเศษโภชนา (จีน) หลานพระยาอรรคราชนารถภักดี (เมือง) เหลนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ขอพระราชทานนามสกุล ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "บุรานนท์" โดยเอานามพระยาอรรคราชนารถภักดี (เมือง)
๒. จมื่นเสมอใจราช (เจ๊ก) บุตรหลวงแก้วอายัติ (จาด) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ขอพระราชทานนามสกุลใหม่ ได้พระราชทานว่า "จาติกรัตน์"
๓. เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด) สมุหพระตำรวจ เหลนเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ในขณะนั้นยังเป็นพระยาราชวัลภานุสิษฐ์ ขอพระราชทานนามสกุล ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "ศุภมิตร"

เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณหญิงนวล เป็นสกุลบุนนาคชั้นที่ ๑ และท่านทั้งสองมียศเป็นเจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ ๑ ด้วย

สกุลบุนนาคสายตรงชั้นที่ ๒ ได้แก่ สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) และสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต) ตามลำดับ ซึ่งคนทั่วไปเรียกนามท่านคู่กันว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"

สกุลบุนนาคชั้นที่ ๓ แยกออกเป็นสกุลบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งผู้สืบสกุลโดยตรงคือ บุตรของท่านและท่านผู้หญิงจันทร์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๕ และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนสายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา พิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) มีผู้ที่สืบเชื้อสายสายตรง คือ พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค) ซึ่งเกิดด้วยท่านผู้หญิงน้อย แต่พระสุริยภักดี เจ้ากรมตำรวจได้ถึงแก่กรรมในรัชกาล ที่ ๓ เมื่ออายุเพียง ๒๗ ปี บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยที่เป็นผู้นำสกุล ได้แก่ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) และพระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค) ตามลำดับ

สำหรับสกุลบุนนาคชั้นที่สี่ ผู้สืบสกุลโดยตรง คือ บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กับท่านผู้หญิงกลิ่น ได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ในรัชกาล ที่ ๕ และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) บุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) กับเจ้าคุณหญิงเป้า ซึ่งเป็นที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ ในรัชกาลที่ ๕

สกุลบุนนาคสายตรงชั้นที่ห้า มีผู้สืบเชื้อสายคือ บุตรชายของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอ่วม ได้แก่ พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) และพระยาราชานุวงศ์ (เล็ก บุนนาค) ตามลำดับ แต่พระยาประภากรวงศ์ (ชาย) ถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ ๕ ทายาท สายตรงของสกุลในชั้นนี้จึงได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๕ ส่วนพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มีบุตรกับคุณหญิงเลื่อน คือ วิเชียร เป็นผู้สืบสกุล ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์เช่นเดียวกับปู่และบิดา

ผู้สืบสกุลบุนนาคสายตรงชั้นที่ ๖ ได้แก่ บุตรชายของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) กับท่านผู้หญิง ตลับ คือ พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค) และพระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ตามลำดับ พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ ได้เป็นผู้นำของตระกูลนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อท่านบิดาถึงแก่อสัญกรรม

สำหรับผู้ที่จะเป็นผู้นำในการสืบสกุลบุนนาคสายตรงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้นั้นเป็นผู้รักษาสมบัติสำหรับสกุลบุนนาค คือ อัฐิเจ้าคุณพระราชพันธุ์ผู้เป็นต้นสกุล ได้แก่ อัฐิของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล และสิ่งของบางอย่างซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวแต่ละพระองค์พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาฯ อาทิเช่น พระทนต์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งได้พระราชทานให้เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เก็บรักษาไว้เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ สมบัติดังกล่าวนี้รักษามาตั้งแต่ครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงมอบให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) รักษาสืบต่อมา เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) รักษาสมบัติสำหรับสกุลสืบต่อมา และเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค) เป็นผู้รักษาสมบัติสำหรับสกุลสืบต่อมาจนถึงแผ่นดินสมัยรัชกาล ที่ ๖

ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้นามสกุลบุนนาคมากมายทั่วประเทศไทย โดยที่บางคนอาจจะไม่รู้จักกันเลยแม้อยู่ในสกุลเดียวกัน มีทั้งผู้ที่สืบเชื้อสายโดยทางตรงและโดยสายสาขา สำหรับบุตรหลานที่สืบสายสกุลทางสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสายสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยนั้น มีผู้สืบ สายต่อกันมาถึงลำดับชั้นที่ ๙-๑๐ แล้ว และมีหลายท่าน ที่สมรสกันในสายเดียวกันและระหว่างสายเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา ผลิดอกออกผล เมล็ดพืชพันธุ์ได้ขยายออกไปเติบโตในท้องถิ่นต่างๆ ฉันนั้น

1 | 2 | 3

 

 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.