วัดสามวิหาร
วัดสามวิหารตั้งอยู่ริมคลอง (เดิมเป็นแม่น้ำขึ้นไปตามโพธิ์สามต้น) ในท้องที่ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา

วัดนี้เป็นวัดโบราณ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า "วัดสามวิหาร" นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีลงความเห็นว่าเป็นวัดเก่ามีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา คือสมัยอโยธยาครั้งหลังสุดเมื่อก่อนเสียกรุงฯ ในปีพ.ศ. ๒๓๑o วัดนี้เคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่าค่ายหนึ่ง

ส่วนปูชนียสถานและโบราณวัตถุของวัดสามวิหารที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ อุโบสถที่มีใบเสมารุ่นอู่ทองขนาดใหญ่ ๑ หลัง วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ๑ หลัง กับพระเจดีย์ใหญ่แบบลังการุ่นแรก ๑ องค์ พระเจดีย์ทรงเครื่อง ๑ องค์

อีกทั้งวัดแห่งนี้ยังตั้งอยู่ในชุมชนนิวาสสถานเดิมของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) และบ้านเดิมของเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) เมื่อครั้งก่อนเสียกรุงฯ อีกด้วย


บ้านท่ากายี

ชุมชนการค้าของพวกแขกเทศ ปรากฏอยู่ในรายนามสถานที่ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้สำรวจพบในแผนที่ อยู่ทางตอนใต้ของตัวเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นย่านชุมชนแขกเก่า ย่านนี้มีการเดินเรือทะเลมาจอดทอดสมออยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเรือแขก เดิมคงเป็นชุมชนลูกเรือเดินทะเล จึงมีอาชีพฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวตีเป็นสายสมอ มีความยาวหลายขนาด เช่น ขนาดยาว ๒o วา ๓o วา ที่ยาวถึง ๕o วาก็มี จำหน่ายให้แก่พวกเรือกำปั่น เรือสลุป เรือสำเภา ตลอดจนฟั่นเชือกเป็นชุดจุดบุหรี่ ด้วยเปลือกมะพร้าวขายให้แก่พวกขุนนางในกรุง และราษฏรทั่วไปที่ต้องการใช้และทำบุญ


ถนนแขกมัวร์
ถนนแขกมัวร์ เป็นถนนที่ดูทันสมัยและมีผู้คนคึกคักเป็นพิเศษ เป็นถนนที่ปูด้วยอิฐแบบก้างปลา ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รถม้าและรถลากแล่นได้โดยสะดวก บนถนนมัวร์มีย่านที่สำคัญ เช่น บ้านออกญาวิชาเยนทร์ บ้านหลวงรับราชทูต ย่านพราหมณ์ ย่านแขก ย่านชาวจีน เป็นที่ชุมชนสินค้า มีถนนหลายสายตัดผ่าน

ถนนแขกมัวร์ไปเชื่อมต่อกับถนนมหารัฐยาย่านป่าตอง สำหรับถนนมหารัฐยานี้เป็นถนนสายหลักกลางพระนครที่ปูด้วยศิลาแลงกว้างราว ๑๒ เมตร เชื่อมระหว่างพระราชวังหลวงกับประตูไชยทางทิศใต้

เจ้าคุณคูจาม สถานฝังศพพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)
ภายหลังจากที่เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวัง ได้เปลี่ยนศาสนาเดิมมานับถือพุทธศาสนา เมื่อคราวตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓o๑) เสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทแล้ว บุตรชายของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ๒ ท่านๆ หนึ่งคือ เจ้าพระยามหาเสนา (เสน) เปลี่ยนศาสนาตามบิดา ส่วนพี่ชายยังคงดำรงอยู่ในศาสนาเดิม คือพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)

พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) สมรสกับท่านทองก้อน (บุตรีพระยาท้ายน้ำ) เชื้อสายจาม ที่มีชุมชนอยู่ย่านปทาคูจาม หรือ คลองคูจามตรงข้ามกับเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาด้านใต้ พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นจุฬาราชมนตรีสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ และอพยพไปอยู่ในกรุงธนบุรี กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชระยะหนึ่ง ก่อนจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่ปทาคูจาม อยุธยา

(พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุคคลท่านแรกที่รวบรวมบันทึกประวัติความเป็นมาของ วงศ์วานเฉกอหะหมัดสืบทอดต่อกันมาจากกรุงศรีอยุธยาจนปัจจุบัน)


กะดีเจ้าคุณตะเกี่ย (ปากคลองตะเคียนใต้)

ศาสนสถานในศาสนาอิสลามที่ท่านเฉกอหะหมัดได้สร้างขึ้นหลังจากได้ตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒๔ ปี ให้แก่วงศ์วานของท่านที่เป็นชาวเมืองเตอร์ก ประเทศเปอร์เซียแล้ว ให้ชื่อว่า กะดีย์เติกกี้ (ปากคลองตะเคียนใต้) ภายหลังถูกนำไปผนวกรวมกับตำนานของนักเดินทางชาวอินเดียในนาม "เจ้าคุณตะเกี่ย"

สำหรับสถานฝังศพ "เจ้าคุณตะเกี่ย" ด้านข้างสุเหร่าตะเกี่ยที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันน่าจะเป็นสถานฝังศพของออกญาศรีเนาวรัตน์ (อากามะหะหมัด) หลานลุงของท่านเฉกอหะหมัดที่เข้ามาในภายหลังและเป็นขุนนางใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และได้รับราชภัยในแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงท่านผู้นี้หลังจากนั้นอีก

 

วัดบรมพุทธาราม (วัดกระเบื้องเคลือบ) และย่านบ้านป่าตอง
ย่านบ้านป่าตอง เป็นย่านที่ถนนแขกมัวร์ไปเชื่อมต่อกับถนนมหารัฐยา ใกล้กับวัดบรมพุทธาราม วัดแห่งนี้แต่เดิมเป็นนิวาสสถานของสมเด็จพระเพทราชา ที่เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์จึงได้ใช้สถานที่นี้สร้างพระอารามขึ้น ทรงพระกรุณาให้หมื่นจันทราช่างเคลือบ ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถวิหาร และพระราชทานนามวัดว่าวัดบรมพุทธาราม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดกระเบื้องเคลือบตามลักษณะพิเศษที่ปรากฏ

วัดแห่งนี้เป็นวัดหนึ่งในหลายวัดที่รายรอบชุมชน "ทุ่งแขก" อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับ "กะดีท้ายคู" ศาสนสถานแห่งแรกที่ท่านเฉกอหะหมัดสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยา ที่ปัจจุบันถูกอาคารหมายเลข ๑ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สร้างทับรากฐานเดิมของกะดีแห่งนี้


"ร่องรอยบางอย่าง สถานที่บางแห่ง
และหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางชิ้น
อาจถูกเปลี่ยนแปลงไปหรือถูกทำลายด้วยกาลเวลา
และรวมถึงการกระทำของเราเอง
ด้วยเหตุนี้เอง
"เยือนรอยโบราณสถานในวงศ์เฉกอหะหมัดที่กรุงเก่า"
นำเสนอมา...เพียงเพื่อย้ำในสิ่งที่หลายๆ ท่านทราบ
และเติมเต็มในข้อมูลที่บางท่านอาจจะพร่องอยู่...
ท้ายที่สุด คงคาดหวังเพียงเพื่อปลูกจิตสำนึก
ในคุณค่าของประวัติศาสตร์บรรพชนแก่ลูกหลานเป็นสำคัญ"



 

 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.