|
" เยือนรอยโบราณสถานในวงศ์เฉกอหะหมัดที่กรุงเก่า
สาแหรกสกุลวงศ์ บุนนาค
อาจนับเนื่องในชั้นต้นมาถึงปีปัจจุบัน
ได้ยาวนานกว่า ๔oo ปี บรรพชนอันเป็นปฐมวงศ์ล้วนฝังรกรากดำเนินชีวิต
สร้างคุณค่าให้ปรากฏแก่แผ่นดินมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า
และยังคงปรากฏร่องรอย
อันเป็นโบราณสถานหลายแห่งที่ล้วนควรค่าต่อสำนึกรู้
และทำความเข้าใจแก่ชนรุ่นหลังสืบต่อไป
อาทิ สุสานเจ้าคุณกลางเมือง (สถานฝังศพออกญาบวรราชนายก (เฉกอหะหมัด))
สะพานบ้านแขกใหญ่ วัดบรมพุทธาราม (วัดกระเบื้องเคลือบ)
ย่านป่าตอง ถนนแขกมัวร์ สถานฝังศพพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)
กะดีเจ้าคุณตะเกี่ย (ปากคลองตะเคียนใต้)
ย่านชุมชนวัดสามวิหาร บ้านท่ากายี ฯลฯ "
|
|
|
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดในจังหวัดอยุธยาและจัดแสดงศิลปวัตถุสมัยอยุธยาที่สำคัญๆ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕o๒ และเปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่
๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕o๔ ในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยอาคารหลัก ๓ อาคาร
- หมู่อาคารเรือนไทย จัดแสดงเพื่อศึกษารูปแบบเรือนไทยแบบภาคกลาง
และจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในเรือนอาศัยของคนไทยภาคกลางในอดีต
- อาคารศิลปะไทยในประเทศ จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ
ที่รวบรวมได้จากจังหวัดอยุธยา เช่น สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย
เชียงแสน อยุธยา ตลอดจนรัตนโกสินทร์
- อาคารตึกเจ้าสามพระยา เป็นอาคารหลักที่สำคัญที่สุด
เพราะเก็บรวบรวมศิลปวัตถุชิ้นที่สำคัญๆ โดยเฉพาะห้องราชบูรณะ จัดแสดงศิลปวัตถุที่ค้นพบภายในกรุของวัดราชบูรณะ
ซึ่งเป็นทองคำและอัญมณีทั้งหมด อันมีพระแสงขรรค์ชัยศรี แผ่นทองดุนลายนูนประกอบกันเป็นองค์จำลองของตัวพระปรางค์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ขนาดย่อส่วน กรองพระศอ สังวาลทับสรวง สร้อยพาหุรัด
ทองพระกรซึ่งเป็นทองประดับอัญมณี ฯลฯ
เครื่องทองเหล่านี้ นอกจากความงดงามทางศิลปะแล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของราชสำนักอยุธยาอีกด้วย
เจ้าคุณกลางเมือง (สถานฝังศพออกญาบวรราชนายก (เฉกอหะหมัด))
|
ท่านเฉกอหะหมัด พ่อค้าแขกชาวเปอร์เซียผู้เดินทางเข้ามาทำการค้าสำเภายังกรุงศรีอยุธยา
พร้อมด้วยน้องชายของท่าน ตั้งแต่ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(ราวปี พ.ศ. ๒๑๔๓) เจริญก้าวหน้าในด้านการค้ากับราชสำนัก จนได้รับความไว้วางพระทัยในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
และเติบโตในงานราชการ จากพระยาเฉกอหะหมัดรัตนราชเศรษฐีแผ่นดิน เจ้ากรมท่าขวา
และได้รับพระราชทานที่ดินตั้งชุมชนอยู่ในพระนครด้านใต้ ท่านรับใช้ราชการบ้านเมืองก้าวหน้า
จนดำรงตำแหน่งออกญาบวรราชนายก ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง และถึงอนิจกรรมในรัชกาลนี้
ศพของท่านถูกนำมาฝังไว้ที่ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู ท่ามกลางวัดสวนหลวงค้างคาว
วัดบรมพุทธาราม (วัดกระเบื้องเคลือบ) วัดอำแม ตามปรากฏหลักฐานการสำรวจกรุงเก่าของพระยาโบราณราชธานินทร์ว่า
ทุ่งแขก (ชุมชนแขก) และ โคกแขก (สถานฝังศพ)
|
สะพานบ้านแขกใหญ่
ภายในพระนครมีถนนซึ่งสร้างขนานไปกับลำคลองสายหลักของเมือง ถนนหลักเป็นถนนสายใหญ่ที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้
ตะวันออก-ตะวันตก ปูด้วยอิฐเรียงสันแบบก้างปลา ส่วนถนนที่ตัดกับลำคลองก็จะมีการสร้างสะพานข้ามคลอง
มีบันทึกกล่าวถึงสะพานในพระนครมีอยู่ถึง ๓o แห่ง เป็นสะพานไม้ ๑๕ แห่ง สะพานอิฐ
๑๔ แห่ง และสะพานศิลาแลง ๑ แห่ง ในจำนวนสะพานทั้งหมดที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ได้แก่ สะพานอิฐบ้านแขกใหญ่ หรือสะพานวานร (สะพานคลองประตูเทพหมี) เป็นสะพานข้ามคลองเชื่อมระหว่างประตูเทพหมีกับคลองฉะไกรน้อยบริเวณวัดอำแมใกล้บ้านเฉกอหะหมัด
ชาวบ้านนิยมเรียกว่าสะพานบ้านแขกใหญ่
ลักษณะเป้นสะพาน ๓ ช่องโค้ง เพื่อให้เรือสัญจรผ่านไปมาได้ โดยมีช่องโค้งใหญ่อยู่กลาง
และช่องโค้งเล็ก ๒ ช่องด้านข้าง ช่องโค้งดังกล่าวมีลักษณะเป็นโค้งกลีบบัวและใช้อิฐเรียงสันตั้ง
เป็นอิทธิพลแขกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
|