รูปขุนนางเปอร์เชีย ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดโสมนัสวิหาร

ในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประวัติวงศ์ตระกูล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะนำมาประกอบการค้นคว้า

งานค้นคว้าเรื่อง "ข้อเท็จจริงของตระกูลบุนนาค" ของรองศาสตราจารย์พิทยา บุนนาค อาจารย์พิเศษประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสัมมนาวิชาการเรื่อง เจ้าพระยาบวรราชนายก (เชค อหฺมัด คูมี) กับประวัติศาสตร์สยามประเทศ ได้ให้ความรู้และมุมมองใหม่ทางประวัติความเป็นมาของท่านเฉกอะหมัดและตระกูลบุนนาค

หนังสือที่เกี่ยวกับต้นตระกูลบุนนาค เล่มแรกที่คาดว่าเก่าที่สุดคือ จดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค เรียบเรียงโดย พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) พระยาวรเทศ (เถื่อน) และเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เล่มต่อมาได้แก่ เฉกอะหมัด ของพระยาโกมาร กุลมนตรี ซึ่งท่านได้นำบทความของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) มา และได้เพิ่มความคิดเห็นของท่านลงไปด้วย

จากนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับต้นตระกูลบุนนาค ได้มีการพิมพ์หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์ในงานต่างๆ โดยเอาบทความของพระยาโกมารกุลมนตรี มาตัดทอนข้อความลงบ้าง ต่อมามีบางท่านนำบทความของนายสิริ ตั้งตรงจิตร เรื่อง ปฐมจุฬาราชมนตรี พิมพ์แจกในงานศพบ้าง (บทความเมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๕ เพื่อมูลนิธิเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)

ต่อจากนั้นนายอุทัย ภาณุวงศ์ ได้เขียนบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในหนังสือเรื่อง เฉกอะหมัด คูมี เจ้าพระยาบวรราชนายก ชาวเปอร์เซีย โดยนำข้อมูลจากนายสิริ ตั้งตรงจิตร ผสมกับข้อมูลจาก พระยาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) รวมทั้งข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติและจากเอกสารของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย ทำให้เชื่อได้ว่า ท่านเฉกอะหมัด คูมี เข้ามาเมืองไทยในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๑๔๘)

ถึงแม้ว่าจดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค ได้กล่าวถึงท่านเฉกอะหมัดและมหฺมัดสะอิด พี่น้องได้เข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ จ.ศ. ๙๖๔ เมื่อต้นแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าบรมราชาทรงธรรมมหาประเสริฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒๒ ในกรุงศรีอยุธยานั้น ทั้งพงศาวดารกรุงสยามอีกหลายฉบับได้ระบุตรงกันว่า รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น เริ่มแต่ จ.ศ. ๙๖๔ ก็ตามหลักฐานข้อมูลใหม่ของอาจารย์ขจร สุขพานิช ได้วิเคราะห์ตรวจสอบศักราชปีรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ เล่ม ๒ เล่ม ๓ และเล่ม ๔ พ.ศ. ๒๕๑๐ ลงความเห็นว่า รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเริ่ม จ.ศ. ๙๗๓ (พ.ศ. ๒๑๕๔) และสวรรคต จ.ศ. ๙๙๐ (พ.ศ. ๒๑๗๑) ฉะนั้น การเดินทางของท่านเฉกอะหมัดและน้องชาย ควรจะเข้ามากรุงศรีอยุธยาก่อนแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงชีวประวัติของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) และวงศ์เฉกอะหมัดตามหลักฐานและเอกสารที่ได้มาโดยสังเขป เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของบรรพบุรุษ และบุตรหลานที่สืบเชื้อสายท่านเฉกอะหมัด ซึ่งรับราชการสนองพระเดชพระคุณแผ่นดินต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน

ปีพุทธศักราช ๒๑๔๕ ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรือสำเภาวานิชของพ่อค้าสองพี่น้องชาวเมืองกุม (QUM) จากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ได้เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา พ่อค้าผู้พี่ชื่อ เฉกอะหมัด น้องชายชื่อ มหฺหมัดสะอิด ได้พาบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระมหากษัตริย์ แล้วได้ตั้งบ้านเรือน อยู่ ณ ตำบลท่ากายี ทำการค้าขายเครื่องหอม แพรพรรณ และนำสินค้าไทยบรรทุกสำเภาไปค้าขายยังต่างแดน จนมีฐานะมั่งคั่ง ได้สมรสกับสุภาพสตรีไทยชื่อ "เชย" มีบุตร ๒ คน และธิดา ๑ คน คือ

๑. บุตรชื่อ ชื่น เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา (ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง)
๒. บุตรชื่อ ชม เป็นไข้พิษถึงแก่กรรมแต่ยังหนุ่ม
๓. ธิดาชื่อ ชี เป็นพระสนมในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ไม่มีพระองค์เจ้า)

ท่านเฉกอะหมัดจึงตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่นั้นมา ส่วนน้องชายท่านมหฺหมัดสะอิด อยู่ได้ไม่นานก็กลับไปยังบ้านเกิดและมิได้กลับเข้ามาอีก

ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดผู้เจนจัดในด้านพานิชกิจ ได้ช่วยราชการแผ่นดินโดยร่วมกับเจ้าพระยาพระคลังปรับปรุงราชการกรมท่า ทำให้งานเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก โดยเฉพาะงานด้านการค้าขายกับพวกพ่อค้านานาประเทศหลายชาติหลายภาษา เช่น โปรตุเกส วิลันดา (เนเธอร์แลนด์) อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น อินเดีย จีน เป็นต้น

1 | 2 | 3

 

 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.