ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงมีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ แด่ท่านเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรมท่าว่าดังนี้ "แขกเฉกอ๊ะฮ์หมัดมหาเศรษฐีผู้นี้เขามีน้ำใจสวามิภักดีต่อราชการของคนไทยมากโดยสุจริตธรรมแท้ๆ และเขาได้เป็นที่ปฤกษาหารือราชการกรมท่าของเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีด้วยมากแทบจะทุกราย ทั้งเขาได้เป็นผู้ช่วยแนะนำให้เสนาบดีกระทำราชการต่างประเทศถูกต้องตามทำนองนาๆ ประเทศมาก หากกระทำให้รั้วงานราชการ ในกรมท่าเปนที่เรียบร้อยเจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อนหลายพันเท่า เราเห็นว่าแขกเฉกอ๊ะฮ์หมัดผู้นี้มีความชอบต่อราชการแผ่นดินไทยเรามากหนักหนา จะหาผู้ใดเสมอเขาไม่ได้ในเวลานี้ เราเห็นสมควรที่จะอนุญาตให้โอกาสแก่แขกเฉกอ๊ะฮ์หมัดผู้นี้ ให้มีเวลาเข้ามาหาเราได้ในท้องพระโรงของเรา" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยาเฉกอะหมัด รัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวาและจุฬาราชมนตรี ซึ่งนับได้ว่าท่านเฉกอะหมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของชาวมุสลิมแห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท้ายคู ซึ่งต่อมาท่านเฉกอะหมัดได้สร้างศาสนสถานมัสยิดนิกายชีอะห์อิสนาอะชะรี คนไทยส่วนใหญ่เรียกว่ากุฏิเจ้าเซ็น หรือ กุฏิทอง และยังจัดที่ดินส่วนหนึ่งเป็นสุสาน ในภายหลังหมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่าบ้านแขกกุฏิเจ้าเซ็น และสุสานนี้ได้ชื่อว่า "ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู" เมื่อเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรมท่าถึงแก่อสัญกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยา เฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเป็นเสนาบดีกรมท่ากลางอีกตำแหน่งหนึ่ง
ต่อมาพ่อค้าชาวญี่ปุ่นซึ่งใช้เรือสำเภาเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา เกิดกำเริบใจก่อการจลาจล ยกพวกเข้าโจมตีพระนคร มีแผนการจะจับตัวสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่หาได้ไม่ ด้วยเวลานั้นเสด็จไปประทับบอกพระไตรปิฎกแก่พระภิกษุวัดประดู่โรงธรรม อยู่ ณ พระที่นั่งจอมทอง ก่อนที่การจลาจลจะลุกลามใหญ่โต ออกญามหาอำมาตย์เชื้อพระวงศ์ในแผ่นดินก่อน ได้ร่วมกับพระยาเฉกอะหมัดฯ เกณฑ์ไพร่พล ทั้ง ไทย จีน และแขก เข้าปราบจลาจลได้สำเร็จทันท่วงที พวกญี่ปุ่นที่เหลือหลบหนีออกนอกพระนครและลงสำเภาซึ่งทอด สมออยู่ที่ปากแม่น้ำเบี้ย บางกะจะ หน้าวัดพนัญเชิง แล่นออกปากน้ำเจ้าพระยาไป พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีได้คุมทหารเข้ารักษาพระราชวังไว้ แล้วจัดเรือพระที่นั่งไปรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับมา ด้วยความจงรักภักดีเป็นที่ประจักษ์ และด้วยความสามารถที่ปรากฎแก่พระเนตรพระกรรณมาช้านาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยา (ออกญา) เฉกอะหมัดฯ ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ศักดินาหมื่นไร่ และให้เลื่อนออกญามหาอำมาตย์ขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม อัครมหาเสนาบดีฝ่ายใต้ พร้อมกันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนนายชื่น บุตรชายเจ้าพระยาเฉกอะหมัดฯ ขึ้นเป็นพระยา (ออกญา) วรเชฐภักดี เจ้ากรมท่าขวาในครั้งนั้นด้วย เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี รับราชการสืบมาอีกสองรัชกาลจนกระทั่งเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
ซึ่งได้เป็นอัครมหาเสนาบดีร่วมกันมาแต่แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง
(พ.ศ. ๒๑๗๓) จึงนับได้ว่าท่านเฉกอะหมัดได้พำนักในแผ่นดินสยามยาวนานถึงหกแผ่นดิน
เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีดำรงตำแหน่งสมุหนายกจนอายุได้ ๘๗ ปี พระเจ้าปราสาททองทรงพระราชดำริเห็นว่าท่านชราภาพลงมากแล้ว จึงโปรด เกล้าฯ ให้พ้นตำแหน่งสมุหนายก และเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย อันเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาการปกครองแผ่นดิน และเลื่อน พระยาบวรเชฐภักดี (ชื่น) ผู้บุตร เป็นเจ้าพระยาอภัยราชาที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือแทน เจ้าพระยาบวรราชนายกครองตำแหน่งได้ราวหนึ่งปี ก็ป่วยหนัก สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้เสด็จไปเยี่ยม เจ้าพระยาบวรราชนายกจึงกราบบังคมทูลฝากธิดา คือ ท่านชี ให้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงรับเอาท่านชีไปเป็นพระสนม เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ถึงอสัญกรรมในปีถัดไป พ.ศ. ๒๑๗๔ (จ.ศ. ๙๙๓) อายุได้ ๘๘ ปี ศพของท่านฝังอยู่ที่ ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) เป็นต้นตระกูลขุนนางไทยที่เก่าแก่สืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหลายสกุล บุตรหลานได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณประเทศชาติ มีชื่อเสียงและบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยตลอดมา ทุกยุคทุกสมัยมิได้ขาดสายจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ ๔๐๐ ปี บุตรหลานได้แยกสายออกเป็นตระกูลใหญ่ๆ ทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามมากมายหลายตระกูล ได้แก่ บุนนาค บุรานนท์ จาติกรัตน์ ศุภมิตร ศรีเพ็ญ วสุธาร วิชยาภัย บุนนาค ภาณุวงศ์ อหะหมัดจุฬา อากาหยี่ จุฬารัตน ช่วงรัศมี ชิตานุวัตร สุวกูล เป็นต้น เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) เป็นบรรพบุรุษที่มีเกียรติยศสูง มีความเก่งกล้าสามารถมาก มีความอุตสาหะอดทน สร้างตนเองจากการเป็นพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งรับราชการได้เลื่อน บรรดาศักดิ์เป็นถึงเจ้าพระยาที่สมุหนายอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นตำแหน่งยศและบรรดาศักดิ์สูงสุดของข้าราชการพลเรือนคู่กันกับเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม ความสามารถในงานด้านการค้าขายและการติดต่อกับต่างประเทศของท่านเฉกอะหมัด ได้ถ่ายทอดมายังผู้สืบสกุลในสกุลวงศ์ของท่าน นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สืบสายสกุลบุนนาคจากท่านเฉกอะหมัดหลายท่านได้รับราชการในกรมท่า เป็นอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีอีกหลายกระทรวง สิ่งหนึ่งที่เจ้าพระยาบวรราชนายก เฉกอะหมัด คูมี ปฐมจุฬาราชมนตรีได้มอบให้ทายาทและลูกหลานผู้สืบวงศ์ตระกูลในเวลาต่อมาคือ การอบรมสั่งสอนให้ทำการสนองพระคุณพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดี ไม่ยุ่งเกี่ยวส่งเสริมหรือคบคิดก่อการร้ายต่อแผ่นดิน คำสั่งสอนนี้เปรียบได้กับบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์ที่บุคคลผู้สืบสกุลบุนนาค ได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสืบต่อกันมา
|
Copyright © 2005 Bunnag.in.th
All rights reserved. |