ท่านแก้ว ธิดาเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ได้แต่งงานกับเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม
ซึ่งมีบ้านอยู่ที่คลองแกลบ ราษฎรเลยเรียกท่านว่า เจ้าพระยากลาโหม คลองแกลบ
เจ้าพระยามหาเสนากับท่านผู้หญิงแก้วมีธิดาคนเดียวชื่อ แจ่ม และมีบุตรชายกับภรรยาอื่นสองคน
ชื่อ ปลี และคุ้ม
ท่านเชน บุตรคนที่สองของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ได้เป็นพระยาวิชิตณรงค์
เจ้ากรมเขนทองซ้ายและว่ากรมอาสาจามด้วย
ส่วนท่านเสน บุตรคนที่สามของเจ้าพระยาเพ็ชร- พิไชยเข้ารับราชการในเจ้าฟ้านราธิเบศร์
(เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) กรมขุนเสนาพิทักษ์มหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเสน เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็กในวังหน้า ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์แล้ว
พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจเป็นพระมหาอุปราชแทน
และได้ทรงเลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเสน่หาภูธร (เสน) ขึ้นเป็นพระยาจ่าแสนยากร
จางวางกรมมหาดไทยในกรมพระราชวังบวรฯ
พระยาจ่าแสนยากร (เสน) วงศ์เฉกอะหมัดชั้นที่ ๕ ได้ท่านพวงแก้ว ธิดาเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์
(ขุนทอง) มาเป็นภรรยา มีบุตรธิดา ๔ คน เป็นหญิง ๓ คน ชื่อ เป้า
แป้น และ ทองดี คนที่สี่เป็นชายชื่อ
บุญมา และมีบุตรกับท่านบุญศรี ภรรยาซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ
พระองค์ก่อนประทานคนหนึ่งเป็นชายชื่อ บุนนาค
กรมขุนพรพินิจมหาอุปราชโปรดเกล้าฯ ให้นาย บุญมาเป็นหลวงมหาใจภักดิ์
นายเวรมหาดเล็กวังหน้า และให้นายบุนนาคเป็นนายฉลองไนยนาถ
มหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้า
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๐๑ กรมขุนพรพินิจได้ครองราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า
พระเจ้าอุทุมพร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาจ่าแสนยากร (เสน) ข้าหลวงเดิมขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหมอัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้
เพราะเหตุที่ท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมวัดสามวิหาร ราษฎรจึงเรียกท่านว่า "เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร"
ต่อมา พระเจ้าอุทุมพรทรงสละราชสมบัติ ถวายเจ้าฟ้าเอกทัต กรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐาเมื่อปี
พ.ศ. ๒๓๐๒ หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จออกทรงผนวช ราษฎรจึงถวายพระนามว่า "ขุนหลวงหาวัด"
ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัต กรมขุนอนุรักษ์มนตรี เมื่อขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามสมเด็จพระมหากษัตริย์บวรสุจริต
ทศพิธธรรม ธเรศเชฐโลกา นายกอุดมบรมนารถบพิตร แต่ราษฎรนิยมเรียกพระนามสั้นๆ
ว่า "พระเจ้าเอกทัต"
ในรัชกาลนี้ พระยาวิชิตณรงค์(เชน) ซึ่งเป็นบุตรคนที่สองของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย(ใจ)
และเป็นพี่ชายของเจ้าพระยามหาเสนา(เสน) ได้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี โปรดเกล้าฯ
ให้ว่าทั้งกรมท่ากลางและกรมอาสาจาม พระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลัง
แต่ไม่ได้ตั้งเป็นเจ้าพระยา ส่วนท่านหนูบุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย(ใจ)
ได้เป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กได้สมรสกับละม่อม ธิดาเจ้าพระยาจักรีโรงฆ้อง
ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลบางกะจะ ใกล้วัดพนัญเชิง มีบุตรธิดาด้วยกันหลายคน
ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ผู้สืบเชื้อสายวงศ์เฉกอะหมัดต่างก็พลัดพรากกระจัดกระจายจากกันไปเช่นเดียวกับวงศ์อื่นๆ
บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็ถูกจับเป็นเชลยตกไปอยู่ในเมืองพม่า บ้างก็พยายามหนีซ่อนเร้นให้พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกทุกวิถีทาง
เชื้อสายวงศ์เฉกอะหมัดในชั้นที่ ๖ นี้ แบ่งออกเป็นหลายสาย แต่ละสายล้วนถือกำเนิดมาจากเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย(ใจ)
ทั้งสิ้น บทความต่อไปจะกล่าวเฉพาะเชื้อสายที่สืบมาถึงท่านบุนนาค ซึ่งเป็นต้นตระกูลของสกุลบุนนาคกับพี่น้องบางคนเท่านั้น
หลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) บุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยามหาเสนา(เสน) ซึ่งเป็นบุตรคนที่สามของ
เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย(ใจ)นั้น พลัดกับครอบครัวตอนกรุงแตก หนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์
ส่วนพี่สาวทั้งสามของหลวงมหาใจภักดิ์ คือ เป้า แป้น และทองดี ตลอดทั้งภรรยาและบุตรของหลวงมหาใจภักดิ์เองถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองพม่า
ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงมหาใจภักดิ์(บุญมา) เข้ามาถวายตัวเข้ารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพลเมืองเพชรบูรณ์ พระพลเมืองเพชรบูรณ์ได้โอกาสจึงกราบทูลขอถวายตัวนายก้อนแก้วพี่ชาย
ซึ่งเป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี(เชน) ผู้เป็นลุง ให้เข้ารับราชการ จึงโปรดเกล้าฯตั้งนายก้อนแก้วเป็นหลวงศรีนวรัตน์
ส่วนนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) บุตรคนที่ห้าของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ได้แต่งงานกับท่านลิ้ม
ธิดาพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก มีธิดาคนหนึ่งชื่อ ตานี เมื่อกรุงเก่าจวนจะเสียแก่พม่า
นายฉลองไนยนารถได้พาภรรยา ธิดา และนายก้อนแก้ว ซึ่งเป็นบุตรของลุง ออกไปอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
(คือ นายทองด้วง ซึ่งต่อมาปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี)
|