เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)
และเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล

เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาหรือที่บางแห่งเรียกว่า เจ้าพระยามหาเสนา เกิดปีมะเมีย พ.ศ. ๒๒๘๑ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

นายบุนนาค เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากร (เสน) กับหม่อมบุญศรี ท่านบิดาได้นำมาถวายตัวทำราชการในกรมพระราชวังบวรฯ กรมขุนพรพินิจ พระมหาอุปราช โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายฉลองไนยนารถ มหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้า เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมขุนพรพินิจ) ขึ้นครองราชย์ ได้เลื่อนพระยา จ่าแสนยากร (เสน) จางวางกรมมหาดไทย ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหกลาโหม อัครมหาเสนาบดีปักษ์ใต้ ซึ่งมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร"

เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ผู้เป็นต้นตระกูล บุนนาค สืบเชื้อสายลำดับชั้นที่ ๖ สายตรงมาจากท่านเฉกอะหมัด หรือเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม และตำแหน่งสุดท้ายของท่าน เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

ในวัยเยาว์ นายบุนนาค นายสิน และนายทองด้วง เป็นเพื่อนสนิทกัน เคยอุปสมบทที่วัดสามวิหาร ต่อมาภายหลังนายบุนนาคมีเรื่องหมางใจกับนายสิน ดังเคยกล่าวมาแล้ว ในสมัยที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) ได้พาท่านลิ้ม ภรรยาไปอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (ทองด้วง)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (นายสิน) ปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว และหลวงยกกระบัตรเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีเป็นที่เจ้าพระยาจักรี นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) จึงมิได้ถวาย ตัวทำราชการด้วยเกรงพระราชอาชญา แต่ได้ตามมาอยู่กับเจ้าพระยาจักรีในฐานะเป็นทนายของท่าน

ต่อมานายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) ชวนท่านลิ้มภรรยาไปขุดทรัพย์ที่บิดามารดาฝังไว้ที่บ้านเก่าริมวัดสามวิหาร หลังจากรวบรวมทรัพย์สมบัติได้แล้วจึงเดินทางกลับ ล่องเรือเข้ามาทางแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี มาถึงปากคลองบางใหญ่ ได้ถูกผู้ร้ายปล้นสมบัติ ภรรยาและข้าทาสอีกสองคนถูกฆ่าตาย นายฉลองไนยนาถกับทาสอีกหนึ่งคนต้องกระโดดน้ำหนีไปโดยไม่ได้ทรัพย์สินเลย ความทราบถึงท่านผู้หญิงนาก ภรรยาท่านเจ้าพระยาจักรี เกิดความสงสารนายฉลองไนยนาถจึงยกท่านนวลน้องสาวให้เป็นภรรยา โดยเป็นผู้ประกอบพิธีสมรสให้

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงแต่งตั้งข้าราชการที่มีความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามความสามารถ นั้น นายฉลองไนยนาถได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยา อุไทยธรรม พระราชพงศาวดารกล่าวว่า


เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)
และเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล

"ตรัสเอาหม่อมบุนนาค บุตรพระยาแสนยากรครั้งกรุงเก่า มิได้คิดเข้ามาทำราชการหายศบรรดาศักดิ์ (ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) พึ่งแต่พระเดชพระคุณให้ใช้สอย ได้ตามเสด็จไปการพระราชสงครามทุกครั้ง มีความชอบตั้งให้เป็นพระยาอุไทยธรรม ภายหลังได้เป็นที่สมุหพระกลาโหม..." พระราชทานบ้านให้อยู่ที่ท้ายวังแถวจวนเสนาบดี

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอุไทยธรรมนำทัพไปสกัดกั้นพม่า (ศึกพม่าครั้งที่ ๑) ที่เมืองชัยนาท เมื่อกองทัพหลวงยกขึ้นไปได้ขับไล่ข้าศึกแตกพ่ายไป เมื่อเสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระยายมราช แล้วเป็นเจ้าพระยายมราชต่อมา

ครั้นปี พ.ศ. ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จยกพยุหยาตราทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองทวาย เจ้าพระยายมราชได้เป็นกองหน้า เจ้าเมืองทวายขอสวามิภักดิ์ และต่อมาเมืองทวายรวมกับพม่ากลับแข็งข้ออีก จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) น้องต่างมารดาของท้าววรจันทร์ (แจ่ม) ไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ แต่ไม่สำเร็จ ต้องล่าทัพกลับ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สูญหายในที่รบ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เป็นเจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม แล้วเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา


 
1 | 2

 

 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.