ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีมาถึง ๓ รัชกาล ด้วยความเรียบร้อย อุตสาหะวิริยะและซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ว่าราชการทั้งปวงร่วมกับเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) ผู้พี่ชายกับพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกและว่าที่พระคลังมหาสมบัติ ด้วยเหตุนี้เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้ทรงแต่งตั้งขุนนางตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระยาศรีพิพัฒน์ฯ รวมอยู่ด้วย ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ กล่าวไว้ว่า "ครั้งนั้น โปรดให้เรียกพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาว่า เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติไปพลางก่อน จนถึงฤกษ์ จึงยกขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาตินรเนตร นาถราชสุริยวงศ์ สกลพงศ์ประดิษฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชวโรประภาร มโหฬารเดชานุภาพบพิตร ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ จารึกในแผ่นทองคำเนื้อแปด พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ถือดวงตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ให้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน คงว่าพระคลังสินค้าด้วย...." สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย รับราชการในกรม พระคลังสินค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านยังมีความสามารถหลายด้าน ท่านเคยเป็นแม่ทัพลงไปปราบกบฎหัวเมืองมลายู ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เล่าว่า พ.ศ. ๒๓๘๑ เกิดกบฎที่ไทรบุรี รัชกาล ที่ ๓ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ขณะอายุ ๔๘ ปี เป็นแม่ทัพลงไปปราบ ในระหว่างนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติให้หลวงอุดมสมบัติ (จัน) ผู้มีตำแหน่งในกรมพระคลังสินค้า ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการ คอยสดับฟังข้อราชการในกรุงเทพฯ บอกออกไปให้ทราบ ในจดหมายเหตุ หลวงอุดมสมบัติ เรียกสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า "ท้าวพระกรุณาเจ้า" เล่ากันว่าทรงประทานเรือพระที่นั่งอมรแมนสวรรค์ (ซึ่งเจ้าพระยานครเป็นผู้สร้างถวาย) ให้เป็นเรือที่สมเด็จ เจ้าพระยาฯ นั่งเอาฤกษ์ออกยกทัพ ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงไป สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ พร้อมนายทัพนายกองไปถึงสงขลา ซึ่งใช้เป็นที่บัญชาการ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๒ หลังจากไปปราบเมืองไทรบุรีและกลันตันเรียบร้อยแล้วก็ยกทัพกลับเมืองสงขลา สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติได้สร้างเจดีย์ขึ้นบนยอดเขาเมืองสงขลา (ภูเขาฝั่งหัวเขาแดง หรือฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองในปัจจุบัน) เคียงคู่กับพระเจดีย์ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พี่ชายเคยสร้างเป็นอนุสรณ์คราวปราบกบฏเมืองตานี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นมหากษัตริย์ที่ใฝ่พระทัยในการพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
และเนื่องจากทรงมีพระปรีชาสามารถทางการค้า จึงทำให้เศรษฐกิจของชาติมั่นคง
มีเงินสำหรับบำรุงพระศาสนาและบ้านเมืองมากมาย ทรงให้สร้างวัดใหม่ ๔ วัด และปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ
อีก ๓๕ วัด โปรดฯ ให้เจ้านายและเสนาบดีเป็นแม่กองสร้างและบูรณะวัดต่างๆ ด้วย
|
Copyright © 2005 Bunnag.in.th
All rights reserved. |