สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ได้เป็นแม่กองสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นแม่กองสร้างพระปรางค์ ภูเขาทอง วัดสระเกศ เป็นแม่กองสร้างสระปทุมวันและวัดปทุมวนาราม พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นแม่กองสร้าง พระอภิเนาวนิเวศน์ พ.ศ. ๒๓๙๗ (ตรงที่ว่างซึ่งเคยเป็นพระราชอุทยานหรือสวนในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมาได้รื้อวัสดุหลายสิ่ง ไปอุทิศถวายในพระอารามหลวงต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๓)

นอกจากนี้ยังได้เป็นแม่กองสร้างพระที่นั่งไชยชุมพลขึ้นบนกำแพงพระมหาราชวัง (ตรงข้ามกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบัน) ซ่อมพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ และอื่นๆ อีกหลายแห่ง

งานสุดท้ายของท่าน คือ เป็นแม่กองสร้างสวนนันทอุทยาน (อยู่บริเวณคลองมอญ หลังวัดชิโนรส ธนบุรี) ใน พ.ศ. ๒๔๐๐ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวง วงศาธิราชสนิท ทำการต่อไปคือ สร้างพระราชวังมีพระนั่งต่างๆ


พระที่นั่งสุทไธศวรรย์

อนึ่ง ในหนังสือ "ประวัติทหารเรือไทย" ของพลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ได้กล่าวถึงการต่อเรือในสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวร สถาปนา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูแลกิจการ ทหารเรือ ได้ทรงต่อเรือรบกลไฟคือ เรืออาสาวดี (Sherry Wine) และเรือยงยศอโยฌิยา (Impregnable) ขึ้น ทั้งยังสร้างเรือเดินทะเลเพื่อการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย ในครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา พิไชยญาติ สร้างเรือชนิดบาร์ก ขนาด ๓๐๐ ตัน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ พระราชทานนามว่าเรืออุดมเดช (Lion) เคยเดินทะเลค้าขายถึงเกาะลังกา ในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ อีกลำหนึ่งเป็นเรือชนิดสกูเนอร์ ขนาด ๒๐๐ ตัน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖ ชื่อ เรือเวทชงัด (Tiger) เป็นต้น

เรื่องที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากเกี่ยวกับสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ คือ เรื่องที่ท่านยอมให้ช่าง ถ่ายรูป เพราะคนไทยสมัยนั้นยังเชื่อไสยศาสตร์ ยังไม่นิยมการวาด การปั้น การทำรูปเหมือน เพราะกลัวเรื่องการนำรูปไปเสกเป่าหรือผีทำร้ายตัวเอง วิชาการถ่ายรูปเข้ามาเมืองไทย ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๘ โดยสังฆราชปาเลอกัว แห่งวัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ สั่งให้บาดหลวงลาร์โนดีน ซึ่งกำลังจะเดินทางจากประเทศฝรั่งเศสมายังเมืองไทยนำเอากล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์มาด้วย ภาพที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยอมให้ถ่าย ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าถ่ายเมื่อปีใด ได้มีผู้นำมาตีพิมพ์เพียงท่าเดียว คือ รูปนั่งเก้าอี้ นุ่งแต่ผ้าไม่สวมเสื้อ ฯลฯ และมีการวาดแต่งเติม ได้พิมพ์แพร่หลายลงในหนังสือที่อ้างถึงตระกูลบุนนาคหลายเล่ม

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ มีบุตรธิดากับท่านผู้หญิงน้อย หลานเจ้าคุณชูโต ๑๒ คน ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งบุตรธิดาที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นเจ้าคุณ พระราชพันธุ์ชั้นที่ ๓ บุตรธิดาที่สำคัญ ได้แก่

  • พระสุริยภักดี (สนิท) เป็นเจ้ากรมตำรวจในรัชกาลที่ ๓ และถึงแก่กรรมในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๑
  • เจ้าคุณหญิงนุ่ม เรียกกันว่าเจ้าคุณตำหนักเดิม ในสมัยรัชกาลที่ ๓ รับราชการฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งเป็นเจ้าคุณเป็นผู้ช่วยราชการฝ่ายใน ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๙

  • คุณชายชิด เป็นมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลที่ ๓ และถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๑
  • เจ้าคุณหญิงเป้า เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้เป็นเจ้าคุณในสมัยรัชกาลที่ ๔ และทำหน้าที่ว่าการโรงไหม ถึงอสัญกรรมในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๕

เจ้าคุณหญิงคลี่ ได้เป็นเจ้าคุณในสมัยรัชกาลที่ ๔ และถึงอสัญกรรม ในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า วิเศษ

นอกจากนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ยังมีบุตรธิดาที่เกิดจากภรรยาอื่นด้วย ที่สำคัญได้แก่

  • เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ) ตำแหน่งจางวางพระคลังสินค้า
  • พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (แย้ม) ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก
  • พระยาอิสรานุภาพ (เอี่ยม) อธิบดีกรมมหาดไทย ฝ่ายพระราชวังบวรวิไชยชาญ
  • พระยากลาโหมราชเสนา (ฉ่ำ) อธิบดีนครบาล
  • พระยานานาพิธภาษี (โต) เจ้ากรมพระคลังสินค้า
  • นายไชยขรรค์หุ้มแพรมหาดเล็ก (โชติ) ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๒

ส่วนธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ที่รับราชการฝ่ายใน คือ คุณหญิงสวนและคุณหญิงปานเป็น พนักงานคลังผ้าเหลือง ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ท้าวศรีสัจจา (เลื่อน) ทำราชการฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นท้าวโสภานิเวศน์ ในรัชกาลที่ ๔ และเป็นท้าวศรีสัจจา ในรัชกาลที่ ๕ ถึงอนิจกรรม พ.ศ. ๒๔๔๓

ธิดาอีก ๒ คน ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ที่ได้เป็นเจ้าจอมมารดาและหม่อมห้ามในพระราชวงศ์จักรี คือ

  • เจ้าคุณจอมมารดาสำลี เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ มีพระเจ้าลูกเธอ ๕ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าชายใหญ่ พระองค์เจ้าหญิงใหญ่ พระองค์เจ้าหญิงบุษบงเบิกบาน สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราช เทวีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และพระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเจ้าจอมมารดา สำลีเป็นเจ้าคุณจอมมารดา ท่านถึงแก่พิราลัย พ.ศ. ๒๔๔๓

  • หม่อมมณฑา เป็นหม่อมห้ามของหม่อมเจ้าประทุมเสพย์ ฉัตรกุล ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์

ธิดาบางคนได้แต่งงานกับพี่น้องสกุลบุนนาคด้วยกัน เช่น คุณหญิงหุ่น เป็นภรรยาของพระยาวงศาภรณ์ภูษิต (เมฆ บุนนาค) คุณหญิงลำใย เป็นภรรยาพระยาราชา นุวงศ์ (โต บุนนาค) คุณหญิงพัน เป็นภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งเป็นญาติผู้พี่ เป็นต้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) มีบุตรธิดารวมทั้งหมด ๓๘ คน ท่านถึงแก่พิราลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ อายุ ๖๖ ปี ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ และได้รับพระราชทานเพลิงที่เมรุหน้าวัดพิชยญาติการาม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์ไว้

 
1 | 2


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.