วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ ได้โปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตก มาสร้างพระนครใหม่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะแรกได้สร้างกำแพงพระนคร และพระบรมมหาราชวังพร้อมกับขุด คู คลอง รอบกรุง สร้างป้อมรอบพระนคร ๑๔ ป้อม รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระนครใหม่ รุ่งเรืองด้วยวัดวาอารามในพระพุทธศาสนาเหมือนกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นการสร้างวังและวัด มักจะสร้างตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา แม้กระทั่งชื่อก็ใช้นามตามที่เคยมีมาแต่เดิม

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยยังต้องทำสงครามกับพม่าระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๘ ถึง ๒๓๕๒ ถึง ๗ ครั้ง จึงมีการสร้างวัดใหม่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเก่าที่มีอยู่แล้ว ได้ทรงมอบให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนาง ข้าราชบริพารช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ ในรัชกาลนี้จึงมีวัดใหม่ที่ทรงสร้างอยู่เพียง ๒ วัดคือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ซึ่งเป็นวัดอยู่ในเขตพระราชฐานไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา) และวัดสุทัศน์เทพวราราม (เสร็จเรียบร้อยในรัชกาลที่ ๓) ได้ทรงสร้าง สถาปนาและบูรณะทั้งหมด ๒๖ วัด ที่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกเพียง ๓ วัดคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ และวัดสุทัศน์เทพวราราม

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แม้จะไม่มีศึกใหญ่จากพม่าและประเทศใกล้เคียง แต่ยังต้องเตรียมกำลังพลและอาวุธพร้อมอยู่ การสร้างวัดใหม่จึงมีเพียงวัดเดียวคือ วัดทรงธรรม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนวัดที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ๑ วัดคือ วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ๑ วัดคือ วัดหงส์รัตนาราม และพระอารามหลวงชั้นตรี ๒ วัด ได้แก่ วัดหนังและวัดบวรมงคล

อนึ่ง วัดอัมพวันเจติยาราม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีประวัติเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ไปอำนวยการสร้างพระปรางค์ ณ ที่ประสูติ

ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม โดยสังเขปดังนี้

วัดอัมพวันเจติยาราม
สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นมารดาของเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล (ภรรยาของเจ้าพระยาอรรคมหา เสนาบุนนาค) เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วัดอัมพวันเจติยาราม เดิมเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภออัมพวา เรียกบริเวณนี้ว่า บางช้าง เนื่องจากในสมัยก่อนมีฝูงช้างลงไปกินน้ำในแม่น้ำแม่กลองจนลึกเป็นคลอง เรียกว่า คลองบางช้าง

สกุล ณ บางช้างนี้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเศรษฐี บางช้างชื่อ น้อย บรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก เป็นนายตลาดหญิงทำหน้าที่เก็บอากรขนอนตลาดของชุมชน บางช้าง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเจริญในด้านเกษตรกรรมและพานิชยกรรมในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีชาวจีน มอญ ลาว อพยพมาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น พระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทร์ส่วนใหญ่ตั้งนิวาสถานอยู่สืบกันมาในบริเวณบางช้าง พระองค์ประสูติที่บ้านอัมพวา เมื่อทรงสมรสกับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (รัชกาลที่ ๑) ได้ย้ายตำหนักไปอยู่ ณ ที่ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม ณ ที่นั้นได้ให้ประสูติกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงพระองค์แรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทร์ฯ ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่นั้นมา เรียกกันว่า "ราชินิกุลบางช้าง" สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี ได้บวชเป็นรูปชีและทรงอุทิศนิวาสถานเดิม สร้างวัดอัมพวันเจติยารามขึ้น ได้ย้ายตำหนักออกไปคือ บริเวณพระที่นั่งทรงธรรมในปัจจุบัน

พระปรางค์วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือ มียอดปรางค์กลมโต แล้วค่อยสอบลงมาทางข้างล่าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า "บานบน" นอกจากจะสร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นที่ทรงพระราชสมภพแล้ว ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้วย

ภายในพระที่นั่งทรงธรรมวัดอัมพวันเจติยารามซึ่งเคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๓ ครั้งเสด็จมาอำนวยการสร้างพระปรางค์ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะสมัยอยุธยา ฐานบัวปิดทองประดับลวดลายแบบจีน เบื้องหน้าพระประธานเป็นพระพุทธบาทจำลอง

เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดเก่าและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นวัดทางโบราณสถาน และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่อย่างต่อเนื่อง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ บ้านเมืองสงบสุขได้มีการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทรงให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ ๓ พระอาราม ได้แก่ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม และวัดเฉลิมพระเกียรติราชวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี ทรงสถาปนาและปฏิสังขรณ์วัดอีกจำนวนมาก เช่น วัดนางนอง วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดยานนาวา และ วัดราชโอรสาราม ฯลฯ เป็นต้น

 
1 | 2 | 3 | 4 | 5


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.