วัดศรีสุริยวงศาราม
วัดศรีสุริยวงศาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดศรีสุริยวงศ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะธรรมยุต ตั้งอยู่ที่ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่เศษ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในรัชกาลที่ ๕ ได้สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว วัดนี้มีศิลปกรรมที่แปลกกว่าวัดอื่นๆ ในจังหวัดราชบุรี คือ พระอุโบสถ กุฏิ และเจดีย์ สร้างแบบศิลปไทยประยุกต์ ผสมศิลปแบบตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น

ในหนังสือสมุดราชบุรีกล่าวถึงวัดศรีสุริยวงศ์ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้สร้างวัดนี้ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ หลังจากวัดสัตตนารถปริวัตร ๓ ปี เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้กราบบังคมทูลถวายวัดนี้ให้เป็นพระอารามหลวง และขอพระราชทานนามวัดและที่วิสุงคามสีมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดว่า "วัดศรีสุริยวงษาวาส" (ตามลายพระราชหัตถเลขา ร.ท จ.ศ. ๑๒๔๑) และมี พระบรมราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ (ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ จ.ศ. ๑๒๔๖ พ.ศ. ๒๔๒๗ ชื่อวัดพระราชทานนามว่า "วัดศรีสุริยวง-ษาราม") ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระครูอุดมบัณฑิต (อ่อน) จากวัดพิชยญาติการาม มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานเงินสมทบในการปฏิสังขรณ์วัดศรีสุริยวงศ์ จำนวน ๕๐ ชั่ง ในวันซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสมภพ สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ร.ที่ ว่า ร.ที่

ถึง เจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์

ด้วยเจ้าคุณสร้างวัดศรีสุริยวงษาราม ครั้งนี้เป็นการกุศลใหญ่และจะเป็นเกียรติยศปรากฏสืบไปภายน่า ฉันมีใจศัทธายินดี ครั้นจะช่วยสร้างเจดีย์สฐาน ฤาเสนาสนะอันใดให้เป็นของเฉพาะสิ่งอันซึ่งเป็นส่วนฉันมีอยู่ในวัดนั้น เจ้าคุณก็ได้ทำการเสียเสร็จแล้ว

จึงจัดเงิน ๕๐ ชั่ง มอบให้ลูกหญิงศรีวิไลยมาช่วยเจ้าคุณแล้วแต่จะเห็นควร ใช้ในการกุศลครั้งนี้ หฤาจะไว้เป็นส่วนสำหรับปฏิสังขรณ์ และสร้างสมอันใดขึ้น ในวัดนี้ก็ตามแต่เจ้าคุณจะเห็นควร ขอให้เจ้าคุณได้รับไว้ในส่วนการกุศลให้สมประสงค์ฉันด้วย

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ณ วัน ๔ ฯ ๒ ค่ำ ปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๒๔๑ เป็นวันที่ ๔๐๕๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

ในขณะที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำการก่อสร้างวัดอยู่นั้น ท่านได้อนุญาตให้นายอากรซือ สร้างศาลเจ้าขึ้นหลังหนึ่ง ในบริเวณที่ดินของท่าน ซึ่งอยู่ติดกับวัดและศาลามณฑล ศาลเจ้านั้นคือ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวราชบุรีมาก ตรงแท่นบูชาของศาลเจ้ามีป้ายชื่อของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นการแสดง ถึงความกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณ


วัดบ้านซ่อง

ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มาขุดคลองดำเนินสะดวกที่ราชบุรี พ.ศ. ๒๔๐๙ ท่านได้สร้างวัดขึ้นที่ริมแม่น้ำแม่กลอง หลักฐานจากแผ่นกระเบื้องหลังคาโบสถ์ที่มีอักษรจารึกว่า จ.ศ. ๑๒๒๘ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๐๙ วัสดุต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันเหมือนกับวัสดุที่สร้างในสมัยสมเด็จเจ้าพระยาฯ นอกจากนี้ยังมีวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นของส่วนตัวของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้แก่ เรือแหวด (สำหรับยศเจ้าพระยา) เก๋งเรือซึ่งมีตราสุริยมณฑล และเครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้วที่มอบให้เป็นสมบัติของวัดอีกด้วย


วัดโคกตลุง

วัดโคกตลุง หรือที่เรียกว่า วัดดอนตลุง ตั้งอยู่ที่ถนนสุขาภิบาลเขางู สาย ๓ ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เดิมเป็นวัดธรรมยุต แต่ปัจจุบันเป็นวัดมหานิกาย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๒๐

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสไทรโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้เสด็จแวะเมืองราชบุรี ทรงพระราชนิพนธ์ ไว้ว่า

"วัดโคกตลุงกำลังทำการค้างอยู่ มีโบสถ์เหมือนวัดสัตตนารถปริวัตรหลังหนึ่ง กุฏิ ๕ ห้องเล็กๆ ๒ หลัง ๒ ห้อง เฉลียงรอบเห็นจะเป็นกุฏิสมภารหลังหนึ่ง หอฉันหลังหนึ่ง สิ่งละเล็กๆ ทั้งนั้น ถ้าพระจะอยู่ได้สัก ๕ องค์ มีกุฏิฝาจากหลังหนึ่ง มีพระอยู่องค์เดียว บอกว่าสมเด็จ- เจ้าพระยามาสร้าง"

ลักษณะหน้าบันของวัดโคกตลุงนี้ เป็นศิลปแบบยุโรป มีตราเป็นรูปรัศมีดวงอาทิตย์ ทำด้วยปูนปั้นนูนเป็นเครื่องหมายอยู่ สิ่งที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถ ซึ่งภายในประดับด้วยช่อไฟ และเจดีย์เล็กๆ หลังพระอุโบสถ เป็นต้น


วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม

วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดารามเป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ริมฝั่งคลองดำเนินสะดวก ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดดอนไผ่บ้าง วัดหลักห้าบ้าง มีชื่อเป็นทางการในปัจจุบันว่า วัดปราสาทสิทธิ์

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ไปทำการขุดคลองดำเนินสะดวกนั้น ได้ขุดมาถึงหลักห้าตัดกับคลองโพหัก ก็ระลึกถึงโคกไผ่ที่บิดา (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) เคยปรารภว่าจะสร้างวัด ตั้งแต่ครั้งมาตรวจสถานที่เพื่อขุดคลอง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้สร้างวัด ณ ที่นี้ เมื่อเสร็จแล้วได้ทำการผูกพัทธสีมา ถวายเป็นอารามสงฆ์ แล้วตั้งชื่อวัดว่า "วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม"

วัดนี้ควรจะชื่อว่า "วัดสมเด็จพระประศาสน์สิทธิ การาม" ซึ่งแปลว่า วัดที่สมเด็จพระประศาสน์เป็นผู้สร้าง จึงจะถูกต้อง เพราะสมเด็จพระประศาสน์ในที่นี้ หมายถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ต่อมาชาวบ้านอาจเรียกและเขียนผิดไป กลายเป็น "วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม" (จากการสัมภาษณ์ นายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕)


วัดประดู่ฉิมพลี

เดิมเรียกว่า วัดสิมพลี ปัจจุบันมีนามว่า วัดประดู่ฉิมพลี คู่กับวัดประดู่ในทรงธรรม วัดนี้สร้างแต่เมื่อใดไม่ปรากฎแน่ชัด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนโกษา จางวาง พระคลังสินค้า ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ สิ้นเวลา ๘ ปี ปัจจุบันนี้ผู้สืบสกุลบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยยังทำนุบำรุงวัดมาโดยตลอด

วัดประดู่ฉิมพลี อยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีเนื้อที่เฉพาะเขตอารามประมาณ ๑๐ ไร่เศษ เป็นวัดใหญ่และงดงาม เขตด้านหน้าวัดติดคลองบางกอกใหญ่ มีศาลาท่าน้ำ ลานวัดภายในกำแพงปูด้วยแผ่นหินจากเมืองจีน

พระอุโบสถ พระวิหารสร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน ยกฐานสูง ๒ ชั้น เป็นฐานพระอุโบสถชั้นหนึ่ง เป็นชานโดยรอบชั้นหนึ่ง มีบันไดขึ้นที่ฐานทั้ง ๔ ด้าน ภายในพระอุโบสถไม่มีเสา หลังคาลดหลั่น ๓ ชั้น ไม่มีช่อฟ้าใบระกาและคันทวย มีเสารายรับชายคาที่ยื่นมาปกคลุมมุขหน้าหลังและชานโดยรอบพระอุโบสถ หน้าบันเป็นแบบกะเท่แซ* บานหน้าต่างประตูปิดทองประดับกระจกลงยาลายแก้วชิงดวง พระประธานแบบสุโขทัย ฐานพระประธานเป็นฐานสิงห์ ปั้นปูนปิดทองประดับกระจก

วัดประดู่ฉิมพลี มีพระสังฆาธิการปกครองเป็นเจ้าอาวาสตามลำดับมา มิได้มีการบันทึกไว้แน่ชัด พ.ศ. ๒๔๕๔ ปรากฎนามเจ้าอาวาสคือ พระอธิการโต๊ะ ได้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นชื่อ โรงเรียนวิริยบำรุง ต่อมาได้โอนเข้าเป็นโรงเรียนของเทศบาล และเปลี่ยนชื่อว่า โรงเรียนวัดประดู่ฉิมพลี พระอธิการโต๊ะได้ทำนุบำรุงปกครองดูแลวัดถึง ๖๙ ปี จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ สมณศักดิ์ขณะนั้นคือ พระราชสังวราภิมณฑ์ คนทั่วไปรู้จักในนาม หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี

 
1 | 2 | 3 | 4 | 5


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.