วัดพิชยญาติการามวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
เขตคลองสาน เดิมเป็นวัดร้าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)
ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ประมาณ
พ.ศ. ๒๓๗๒ - ๒๓๗๕ ในรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยขณะนั้นเป็นจางวางพระคลังสินค้า
มีเรือสำเภาค้าขายกับจีน จึงได้นำอับเฉาเรือ กระเบื้องสี และหินมาจากจีน
สถาปัตยกรรมวัดนี้มีลักษณะแบบไทยผสมจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น
เมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้ว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชทานนามว่า "วัดพระยาญาติการาม" ในสมัยรัชกาลที่
๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดพิชยญาติการาม"
คนทั่วไปเรียกว่า "วัดพิชัยญาติ"
พระอุโบสถวัดนี้มีขนาดย่อม หลังคาแบบเก๋งจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันทั้งสองเป็นปูนปั้นมังกรสอดสีประดับกระเบื้อง
เพดานตามระเบียงเขียนรูปดอกไม้สอดสี เสาพาไลเป็นศิลากลม ฐานสลักศิลาเป็นเรื่องสามก๊ก
ฝีมืองดงามหาดูได้ยาก บานประตูหน้าพระอุโบสถเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเซี่ยวกางเหยียบสิงห์โต
บานประตูกลางเป็นลายรดน้ำรูปเทวดาถือพระขรรค์เหยียบราชสีห์ ภายในพระอุโบสถ
ฝาผนัง และเสาภายใน เขียนลายดอกไม้ ต้นไม้สวรรค์ เช่น นารีผล และกัลปพฤกษ์
หลังพระประธานเขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้ว ลานหน้าพระอุโบสถปูด้วยแผ่นศิลาจากเมืองจีน
พระปรางค์ องค์ใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เลียนแบบปรางค์ สมัยอยุธยาประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น
๔ องค์ หันพระพักตร์ไปสู่ทิศทั้งสี่ ส่วนพระปรางค์องค์เล็ก ๒ องค์นั้น
องค์ทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง
๔ รอย จำหลักด้วยแผ่นศิลา
เจดีย์หน้าพระอุโบสถเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ถ่ายแบบจากพระบรมธาตุ
นครศรีธรรมราช ฐานมีซุ้มประตูสี่ด้าน มีระเบียงเดินได้รอบ
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย อัญเชิญมาจากวัดพระวิหารหลวง
เมืองพิษณุโลก มีพระนามว่า "พระสิทธารถ" เป็นพระโบราณรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์
รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินที่วัดนี้ครั้งหนึ่ง
ทอดพระเนตรเห็นองค์พระงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำฉัตรพื้นขาว
๕ ชั้นมาถวายเป็นพระพุทธบูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐
|