ท่านเฉกอะหมัดและมหฺมัดซาอิด (หรืออหะหมัดซาอิด) ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในปลายสมัย กรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและทำการค้าขายที่ ตำบลท่ากายี ประกอบการค้าขายเจริญรุ่งเรือง และได้ช่วยราชการแผ่นดิน ปรับปรุงกรมท่า เป็นที่ปรึกษาราชการต่างประเทศของเจ้าพระยาพระคลังสมัยนั้น ทำให้งานเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าทรงธรรม) จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี และพระราชทานที่ดินตำบลท้ายคู เป็นที่ตั้งบ้านเรือนพร้อมบริวารเป็นอันมาก ได้ทำการสร้างมัสยิด (สุเหร่า) กุฎี สถานฝังศพ ตลอดจนถนนในบริเวณนั้น ชาวกรุงศรีอยุธยาและชาวต่างชาติเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านแขกใหญ่หรือบ้านแขกกระดีย์เจ้าเซน (กุฏีเจ้าเซน) จากบทความของท่านเพิ่ม อหะหมัดจุฬามีความเห็นเกี่ยวกับสถานที่นี้ว่า ท่ากายี และ ท้ายคู นั้น เดิมคงเป็นที่หลวงและเป็นสถานที่เดียวกัน ก่อนที่ท่านเฉกอะหมัดและพวกแขกจะมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้คงเรียกว่าตำบลท้ายคู เมื่อมีแขกหมู่ใหญ่มาอยู่จึงเรียกว่า ทุ่งแขก หรือบ้านแขกใหญ่ ส่วนคำว่า "ท่ากายี" นั้นคงเป็นเพราะมีการคัดลอกประวัติหลายครั้ง การเขียนภาษาด้วยลายมือหวัดอาจจะเลือนไป ท้ายคู จึงเป็น ท่ากายี ส่วนกระดีย์ที่ฝังศพนั้นมีชื่อว่า กระดีย์ทอง ในบางครั้งจะเรียกสถานที่นี้ว่า บ้านตึกแขก บ้างเรียก บ้านรั้วอิฐ (เพราะมีกำแพงก่อด้วยอิฐถือปูน) บ้างเรียกบ้านแขกกระฎี เจ้าเซน ซึ่งมีทั้งกระฎีเจ้าเซนใหญ่คู่กันกับกระฎีเจ้าเซนน้อย อยู่ในกำแพงพระนครใกล้กับวัดกระเบื้องเคลือบ (วัดบรมพุทธาราม) มีหลักฐานว่าพระยาโบราณบุรานุรักษ์ ผู้รั้งตำแหน่งเทศาภิบาลกรุงเก่า เป็นผู้ค้นพบแท่นบูชาในโบสถ์กระฎีเจ้าเซนน้อย สวนกระฎีเจ้าเซนใหญ่ที่ตำบลท้ายคูนั้น ปัจจุบันนี้ยังมีรอยฐานกำแพงอยู่บ้างบางแห่ง สถานที่ตำบลท้ายคู และตำบลท่ากายีนั้น จะเป็นสถานที่เดียวกันหรือไม่ ยังมีนักประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมทั้งผู้ที่สืบเชื้อสายเฉกอะหมัดสนใจค้นคว้าอยู่ ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ หน้า ๑๙๓ กล่าวถึงพื้นที่ "เกาะเมือง" (พระนครศรีอยุธยา) ตรงที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกันที่ตำบลบางกะจะ หน้าป้อมเพชร เรียกว่า "ท้ายคู" นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสถานที่ที่พ่อค้ามาชุมนุมกันในหน้า ๔๒-๔๔ ว่า "ฝรั่งหมากเกาะมาทอดสมอกำปั่นสำเภาอยู่ท้ายคู..." อีกตอนหนึ่งเกี่ยวกับศึกพม่ายกทัพเข้าติดพระนครว่า "เจ้าพระยามหาเสนาออกไปตั้งค่ายบ้านดอกไม้ท้องนาหันตรา พระยาพระคลังตั้งป้อมท้ายคู..." ส่วนท่ากายี มีชื่อสถานที่ในแผนที่อยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ. ๒๔๖๙ อยู่คนละแห่งกับตำบลท้ายคู ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นตำบลที่เกิดขึ้นใหม่โดยแยกจากพื้นที่ซึ่งเคยเรียกแต่เดิมว่า "ท้ายคู" ออกไปส่วนหนึ่งในสมัยพระยาศรีนวรัตน์ (อากามหะหมัด) บุตรมหฺหมัดซาอิด น้องชายเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)
พระยาศรีนวรัตน์ (อากามหะหมัด) สมรสกับท่านชี ธิดาเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) มีบุตร ๒ คน ชื่อ ยี และชื่อแก้ว ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ วัดอำแม ชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกบ้านนั้นว่า บ้านแขกกระฎีใหญ่ ปัจจุบันยังหาหลักฐานไม่ได้ที่จะชี้ชัดเกี่ยวกับสถานที่นี้ ในคำอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ว่า "คลองประตูเทษสมีเข้ามาจนลำคูปากสมุท แบ่งน้ำกลางเมืองออกริมตะพานนาคมาบรรจบกับคลองประตูเทษ มีตะพานอิด แต่บ้านแขกใหญ่ข้ามมาถนนบ้านแหชื่อตะพานวานร๑ มีคลองน้อยลัดมาจากคลองใหญ่ประตูจีนมาทลุออกคลองประตูเทษ มีตะพานอิดเดิร แต่ถนนบ้านแขกข้ามมาศาลาอาไศรย มาป่ายา๑ มีตะพานอิดเดิรมาถนนหน้าวัดอำแม มาออกถนนหลวงตรงมาวัด ฉัดทันแล" ตามคำอธิบายนี้บ้านแขกกระฎีใหญ่คงอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากกระฎีเจ้าเซน ส่วนบ้านของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) บุตรเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) นั้นอยู่ริมวัดสามวิหาร บริเวณแยกทางไปหัวรอ ท่านและวงศ์วานอาศัยอยู่ ณ ที่นี้ จนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ผู้สืบเชื้อสายเฉกอะหมัดต่างพลัดพรากกระจัดกระจายจากกันไปเช่นเดียวกับวงศ์อื่นๆ บ้างเสียชีวิต บ้างถูกขังเป็นเชลยตกไปอยู่ในเมืองพม่า บ้างก็หลบหนีซ่อนเร้นไปยังท้องถิ่นอื่น นายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) บุตรคนที่ห้าของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ได้พาครอบครัว มาอยู่กับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (เจ้าพระยาจักรี) ที่ตำบลอัมพวา เขตสมุทรสงคราม และเมื่อตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี นายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) ได้ติดตามเจ้าพระยาจักรี มาอยู่ที่ตำบลใกล้วัดระฆังโฆษิตารามด้านทิศใต้ สมัยนั้นเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ (ปัจจุบันคือสถานที่ตั้งกรมอู่ทหารเรือ) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแล้ว โปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งนายฉลองไนยนารถ (บุนนาค) เป็นพระยาอุไทยธรรม พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่ตรงบริเวณกำแพงวังหลวงด้านใต้
กับกำแพงวัดโพธิ (ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ปัจจุบันนี้เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์
วัดพระเชตุพนฯ สถานที่นี้มีอ้างในหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์
ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เกิดที่นี่
|
Copyright © 2005 Bunnag.in.th
All rights reserved. |