บ้านของสกุลบุนนาค

บ้านพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และบุตรหลานอยู่ถนนประชาธิปก บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ติดคลองสมเด็จเจ้าพระยา ตึกใหญ่นี้เรียกว่า "บ้านภูเก็จ" สร้างโดย คุณหญิงเลื่อม ธิดาพระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็จ) ภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นจมื่นเสมอใจราช มหาดเล็กพิเศษในรัชกาลที่ ๔ ได้ติดตามบิดา (พระยามนตรีสุริยวงศ์ - ชุ่ม) ข้าหลวงใหญ่ประจำหัวเมืองชาย ทะเลตะวันตก ไปราชการที่เมืองภูเก็จ (ภูเก็ตในปัจจุบัน) และได้สมรสกับคุณหญิงเลื่อม ธิดาพระยาวิชิตสงคราม ข้าหลวงใหญ่ เมืองภูเก็จ ผู้ค้นพบเหมืองแร่ดีบุก ที่ตำบลทุ่งคา คนแรก เมื่อย้ายกลับมาพระนคร คุณหญิง เลื่อมได้นำเงินมาปลูกตึกใหญ่ ริมคลองสมเด็จ เจ้าพระยาใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เรียกกันว่า "บ้านพระยาภูเก็จ" ชาวบ้านเรียกสั้นว่า "บ้านภูเก็จ" และยกเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงหลานชาย ชื่อ ชัพน์ (นายลิขิตสารสนอง) ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ถูกระเบิดลงไฟไหม้จึงต้องรื้อทิ้ง และได้สร้างบ้านขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น มีบ้านของบุตรหลานพระยามนตรีสุริยวงศ์ (วิเชียร บุนนาค) และคุณหญิงประชุม โรงภาพยนตร์ประชุมมหรสพ บ้านนายชือ (พิชัย บุนนาค) รายรอบ

ชุมชนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีสวนกาแฟแห่งแรกทางฝั่งธนบุรี มีอู่ต่อเรือรบและเรือพระที่นั่ง มีคลองเชื่อมระหว่างวัด กับแม่น้ำเจ้าพระยา มีตลาดสมเด็จตลอดจนโรงเรียน และโรงพยาบาล


ในสมัยรัชกาลที่ ๒ นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษได้เข้ามาตั้งห้างร้านขายสินค้าต่างประเทศ ในบริเวณที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมากลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้แก่หมอบรัดเลย์ ได้มาเช่าบ้าน ๒ หลัง ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยอยู่ใกล้กับจวนของท่าน ได้นำวิทยาการสมัยใหม่มาเผยแพร่ในชุมชนแห่งนี้ ได้แก่การรักษาคนไข้ การปลูกฝีฉีดยาป้องกันโรค จัดตั้งโรงพิมพ์ ตั้งโรงเรียน และการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ บริเวณจวนของสมเด็จเจ้าพระยา ยังเป็นสถานที่พักและรับรองคณะทูตตะวันตก ที่เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทย ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงตึกรับรองที่หน้าวัดประยูรวงศาวาส อันเป็นที่รับรองทูตคนสำคัญเช่น นายเฮนรี่ เบอรนี นายจอห์น ครอเฟิร์ด และเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เป็นต้น แม้แต่แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษ เมื่อแรกมาถึงเคยพักอยู่ในบริเวณบ้านสมเด็จ เจ้าพระยาก่อนจะไปอยู่ที่อื่น


บ้านหมอบรัดเลย์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้มาพักผ่อนรักษาตัวที่เมืองราชบุรีหลายปี ท่านได้สร้างบ้านหลังใหญ่ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เป็นที่พักผ่อน มีบุตรหลานและข้าราชการออกมาเยี่ยมเยียนและพักแรมกับท่านเป็นประจำ (ในช่วง พ.ศ. ๒๔๑๘ - ๒๔๒๕) มีเรือน ว่าราชการ (ทำเนียบ) ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันเป็นค่ายภาณุรังษี กรมการทหารช่าง) ต่อมาย้ายทำเนียบมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ (คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี) ในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ ให้สร้างศาลารัฐบาลมณฑล (ปัจจุบันเป็นห้องสมุดประชาชน) อาคารที่พักทางราชการ และอนุญาตให้สร้างศาลเจ้ากวนอู ได้ตัดถนนสายสำคัญ ๒ สาย คือ ถนนหลักเมือง หรือถนนศรีสุริยวงศ์ และถนนเขาวัง ในปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองสร้างพระราชวังบนเขาสัตตนารถ (เขาวัง) ขุดคลองดำเนินสะดวกเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้สร้างวัดศรีสุริยวงศารามขึ้นในเมืองราชบุรี และในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้สร้างศาลาขึ้นหลังหนึ่งที่ตำบลมะขามเตี้ย ใช้เป็นที่ประชุมของประชาชนที่มาทำบุญที่วัดมะขามเตี้ย หลังจากนั้นไม่นานท่านถึงแก่พิราลัย ต่อมาบ้านพักของท่านตกเป็นของหลวง และรัฐบาลได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรี


บ้านภูเก็จ

นอกจากนี้ที่จังหวัดเพชรบุรี เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นพระยาสุรินทรฤาชัย เจ้าเมืองเพชรบุรี ได้สร้างบ้านอาศัยอยู่พร้อมบุตรหลาน ในปัจจุบันสถานที่เป็นของราชการบ้างเป็นอาคารพาณิชย์บ้าง ส่วนที่จังหวัดในภาคใต้ มีบุตรหลานบางท่านอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ปัตตานี และสงขลา ส่วนใหญ่จะมีบิดาหรือปู่ทวด เป็นสมุหเทศาภิบาล เจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) หรือ ข้าราชการประจำจังหวัด อนึ่ง ถิ่นเดิมที่เป็นภูมิลำเนาของราชินิกุลบางช้างและบุนนาค ยังมีบุตรหลานตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ได้แก่ พระยาราช พงษานุรักษ์ (ชม บุนนาค) พ.ศ. ๒๔๑๙ - ๒๔๓๗ พระยาราชพงษานุรักษ์ (แฉ่ บุนนาค) พ.ศ. ๒๔๓๘- ๒๔๓๙ หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ชวน บุนนาค) พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๔๑ และพระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค) พ.ศ. ๒๔๔๓ - ๒๔๖๐ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบุตรหลานสกุลบุนนาค เช่น สายหลวงแก้วอายัติ (จาด) สายพระยาสมุทรสาครนุรักษ์ (สด) ซึ่งบางท่านใช้นามสกุลบุนนาค ณ มหาไชย มีนิวาสถานอยู่ที่มหาไชย จังหวัดสมุทรสาคร อีกด้วย

พ.ศ. ๒๔๓๓ พระยาสีหราชเดโชชัย (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินที่เป็นจวนสมเด็จเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ณ สถานที่นี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ต่อมาโรงเรียนได้ขยายหลักสูตรการศึกษาและมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงย้ายสถานที่ไปอยู่ที่ตำบลไม้สิงโต ประทุมวัน (เขตติดต่อกับวัดสระปทุม) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ และได้โอนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม เป็นโรงเรียนกฎหมาย เบื้องต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒


โรงเรียนสุขุมาลัย

หลังจากโรงเรียนราชวิทยาลัยย้ายไปแล้ว กระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู บนที่ดินบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่เคยเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัยเก่า เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" พ.ศ. ๒๔๗๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) เชื่อมระหว่าง ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่อันเป็นสถานที่ตั้งของ สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาปัจจุบัน โดยการแลกเปลี่ยนพื้นที่กับโรงเรียนศึกษานารีเดิม อาคารที่เป็นตึกอำนวยการของสถาบัน ตั้งอยู่ติดกับบ้าน "ท่านผู้หญิงพัน" ภรรยาคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่เดิมนั้นบ้านท่านผู้หญิงพัน เป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ใต้ถุนสูง มีบันไดทางขึ้นสองทาง ตรงด้านหน้าซึ่งมีประตูลูกกรงเหล็กอยู่ตรงกลาง บ้านหลังนี้แต่เดิมใช้เป็นอาคารวัดผลของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้รื้อถอนออกไปเมื่อมีการก่อสร้างอาคารอื่นๆ ของสถาบัน รวมทั้งครัวของบ้านท่านผู้หญิงพัน ซึ่งอยู่หลังตึกอำนวยการด้วย ท่านผู้หญิง พันมีความประสงค์จะยกบ้านและที่ดินของท่านให้เป็นสถานศึกษา เนื่องจากท่านไม่มีทายาท ซึ่งต่อมาได้สร้างขึ้นเป็นโรงเรียนศึกษานารีเก่า และได้เกิดการแลกเปลี่ยน สถานที่กับโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในภายหลัง

สำหรับประวัติโรงเรียนศึกษานารี ที่เกี่ยวกับสกุลบุนนาคนั้น การจัดตั้งโรงเรียนเริ่มจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม รูปที่ ๖ เมื่อครั้งยังเป็นพระสยามปริยัติ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็น พระครูอุดมพิทยากร) ได้เปิดการสอนเด็กนักเรียนที่วัดอนงคาราม เริ่มจากเด็ก ๙ คน เรียนที่ระเบียงกุฏิครูใหญ่ (กุฏิสมเด็จฯ เดิม) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ต่อมาจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น แล้วต้องขยายโรงเรียนไปสอนที่หอสวดมนต์ ขยายหลักสูตรการสอนเป็นแผนกมูล แผนกประถม และแผนกมัธยม แล้วจัดตั้งโรงเรียนอุดมวิทยายนขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ เริ่มจากเรือนไม้ชั้นเดียว ริมคลองสาน (คลองสมเด็จ เจ้าพระยา) ต่อมาได้เปิดสอนสตรีขึ้นอีกแผนกหนึ่ง ให้ชื่อว่าโรงเรียนสตรีอุดมวิทยายน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงศึกษาระดับประถมศึกษา ณ สถานศึกษาแห่งนี้

1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.