ริมแม่น้ำย่านตึกแดงตึกขาว

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ชาวมุสลิมสายอินเดีย นำโดย ฮัจยี อาลี อะหะหมัด นานา จากตำบลแรนเดอร์ เมืองสุรัตใกล้บอมเบย์ ประเทศอินเดีย ได้มาเช่าบ้านทำการค้าอยู่ที่ตึกแดงริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังวัดอนงคาราม ทำการค้าขายผ้าทอดิ้นเงินดิ้นทอง และช่วยราชการกรมพระคลังสินค้าด้านแปลภาษาต่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๓๙๙ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยสั่งให้ปรับปรุงตึกอิฐแดงนี้ เป็นสถานสอนศาสนาเด็กชาวมุสลิม จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๒ ผู้สืบเชื้อสายสุไหงปัตตานีและแรนเดอร์ได้ร่วมใจกันสร้างสุเหร่าหรือมัสยิดหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมและคับแคบ ให้ชื่ออาคารหลังนี้ว่า กูวติลอิสลาม คนทั่วไปเรียกว่า มัสยิดตึกแดง หรือมัสยิดแม่น้ำ เป็นมัสยิดในศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย รับราชการดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลังสินค้า ในพ.ศ. ๒๔๑๗ ท่านสร้างเคหสถานอยู่ในอาณาบริเวณข้างเคียงกับหมู่ตึกแขกที่สายตระกูลนานา และผู้ร่วมงานตั้งหลักแหล่งค้าขาย

บริเวณย่านวัดอนงคาราม ได้แบ่งเป็น ย่านตึกแดง และย่านตึกขาว เรียกชื่อตามอาคาร ส่วนใหญ่ที่ปรากฏในชุมชนย่านนั้น


พระตำหนักเก๋งที่วัดพิชยญาติการาม
ย่านตึกแดง เริ่มตั้งแต่ปากคลองวัดอนงคารามจนจดมัสยิดกูวติลอิสลาม เคยเป็นเขตบ้านเดิมของพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (แย้ม บุนนาค) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ต่อมาเป็นย่านที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพของคนจีน เช่นเดินเรือค้าขาย โรงถ่านก้อน (ดินเลนผสมเศษถ่าน) และโรงทำเตาอั้งโล่ ส่วนใหญ่เป็นจีนไหหลำ กลุ่มอาคารของชาวจีนทาสีแดง ริมน้ำเป็นโกดังสินค้า บริเวณใกล้เคียงมีศาลเจ้า โรงชัน โรงเคี่ยวน้ำตาล และโรงโม่ขี้เลื่อยป้อนโรงงานทำธูป เป็นต้น บริเวณข้างศาลเจ้ากวนอู เป็นเขตบ้านและโรงงานน้ำปลาของครอบครัวจีน ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนด้านใต้โรงน้ำปลาเป็นกำแพงเขตตึกแขก

พื้นที่ตอนในเข้ามา จากริมคลองวัดอนงคารามถึงเขตตึกแขกเป็นที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย มีอาคารหลังใหญ่เป็นบ้านของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างตลาดสมเด็จเจ้าพระยากับเขตตึกแขก ลักษณะอาคารเป็นตึกปนไม้แบบตะวันตกขนาดใหญ่ ๒ หลัง (ปัจจุบันนี้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

บริเวณตึกแขกนั้นเป็นของตระกูลนานา สร้างเป็นตึกปนไม้ ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยมี ๒ แถว ยาวขนานไปสู่ท่าแขก (รื้อหมดแล้วในพ.ศ. ๒๕๓๗)


ถนนเยาวราชในอดีต

ทางด้านเหนือของตึกแขกเป็นกำแพง มีซุ้มประตูเข้าสู่อาณาบริเวณบริวารของบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ด้านใต้มีประตูไปสู่ย่านตึกแดงตอนใต้และย่านตึกขาว ทางด้านตะวันตกมีซุ้มประตูใหญ่ ตรงถนนสู่ท่าแขกหรือถนนสมเด็จเจ้าพระยา ๓ ในปัจจุบัน จากกำแพงตึกแขกด้านใต้เป็นที่อยู่ของตระกูลไกรฤกษ์ และถัดไปเป็นอาณาบริเวณบ้านตระกูลกัลยาณมิตร

ย่านตึกขาว เรียกจากสีของอาคารในย่านนี้ ซึ่งทาสีขาวเป็นส่วนใหญ่ มีโกดังสินค้าขนาดใหญ่ โรงสินค้า และโรงสี ของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) ใกล้ริมแม่น้ำถัดจากโรงเก็บสินค้า มีมัสยิดตึกขาว หรือมัสยิดเซฟี ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ อาชีพของผู้อาศัยอยู่บริเวณย่านตึกขาว นอกจากค้าขายคล้ายกับทางตึกแดงแล้ว ยังมีลานมะเกลือ และครามสำหรับย้อมผ้า และร้านค้าหนัง อีกด้วย

พระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค) บุตรสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ และเป็นน้องพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม) มีนิวาสถานตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ปากคลองวัดทองเพลง (ตรงข้ามกับกรมศุลกากรเก่า) ในสมัยต่อมาสถานที่นี้ได้เปลี่ยนเป็น โรงเรียนบ้านพระยานานา ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมจีน มีแบบตะวันตกเจือปน

พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) บุตรสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) สมรสกับคุณหญิงนิ่ม ธิดาพระศรีทรงยศ (เจ้าสัวเนียม) มีเคห สถานอยู่ที่ตรอกเจ้าสัวเนียม ตลาดเก่า ถนนเยาวราช ท่านมีบุตรธิดาหลายคน เมื่อสมรสมีครอบครัวจึงแยกบ้านออกไปอยู่ที่อื่น พระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) บุตรคนหนึ่งของท่าน ได้อยู่ที่นี่ บริเวณบ้านที่พักอาศัยนี้ เรียกว่า "บ้านเยาวราช" บางทีเรียกว่า บ้านตลาดเก่า บ้านเจ้าสัวเนียมก็มี

บ้านเยาวราช อาคารเป็นตึกแบบจีน มีลานปูด้วยกระเบื้องสีแดงแบบจีน ธิดาและหลานสาวของพระยาไพบูลย์สมบัติ จะอยู่บริเวณตึกที่ล้อมหอกลาง เป็นตึกด้านใน หลายหลังติดกันไม่มีสนามหญ้า ส่วนบริเวณที่พักของเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) บุตรคนโตของท่าน จะอยู่ทางด้านนอก มีสนามหญ้าและมีสนามแบดมินตันด้วย ส่วนพระยาประเสนชิตศรีพิลัย (ดัด บุนนาค) น้องชายเจ้าพระยาพิชัยญาติ เป็นผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ ท่านไปประจำราชการต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ บ้านของท่านอยู่ที่ตรอกเสริมสินค้า ถนนเยาวราช บ้านพระยาอรสุมพลาภิบาล (เด่น บุนนาค) น้องชายคนถัดไปอยู่ที่ซอยวัดกัลยาณ์ บริเวณเชิงสะพานเจริญพาสน์ซึ่งเป็นบ้านของพระยาราชานุประพันธ์ (ทุ้ย) กับคุณหญิงพงศ์สุริยัน บุนนาค บิดามารดาของคุณหญิงอายุยืน ภรรยา พระยาอรสุมพลาภิบาล (เด่น) ส่วนพระนิตินัยประสาน (พงศ์ บุนนาค) มีบ้านอยู่ที่ถนนทรงวาด และต่อมาย้ายมาอยู่ที่ซอยทรัพย์ ถนนสุรวงศ์ บุตรหลานท่านอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน



1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.