พระที่นั่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน


ทางเข้าพระอภิเนาว์นิเวศน์


ลายปูนปั้นตรา จปร ที่มุขหน้าของพระที่นั่งบรมพิมาน

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองคุมการก่อสร้างอาคารในพระบรมมหาราชวัง ในพ.ศ. ๒๓๙๖ แต่ได้ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างต่อมา และกรมขุนราชสีหวิกรม เจ้ากรมช่างสิบหมู่เป็นนายช่างสร้างต่อมาจนสำเร็จ พระราชทานนามในหมู่พระราชมณเฑียรใหม่นี้ว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์ ได้เฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ รวมเวลาก่อสร้าง ๖ ปี ได้พระราชทานชื่อพระที่นั่งและหอต่างๆ ให้คล้องจองกันดังนี้ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร พระที่นั่งเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิรุ่งโรจน์ หอโภชนลีลา และพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์


พระราชวังนันทอุทยาน
ตั้งอยู่บนถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังเป็นที่ประพาส และเตรียมไว้เป็นที่อยู่ของพระราชโอรส ธิดา เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว โดยโปรดให้ซื้อสวนราษฎรที่ริมคลองมอญ ทางฝั่งเหนือบริเวณด้านข้าง และด้านหลังวัดชิโนรสารามเป็นจำนวนมากสร้างพระราชวัง มีพระตำหนักที่ประทับและตำหนักฝ่ายในหลายหมู่ มีเขื่อนเพชรล้อมรอบ แล้วโปรดให้ขุดคลองมอญจนเข้าไปถึงที่ประทับ

การก่อสร้างเริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กอง คุมการก่อสร้างได้ไม่นานก็ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทคุมการสร้างต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๘ จึงหยุดการสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานพระตำหนักที่ประทับและที่สวนนันทอุทยานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) กับเจ้าคุณ จอมมารดาแพ โดยมีกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร (พระองค์เจ้าลม่อม) ประทับอยู่ด้วย เมื่อเจ้าคุณจอม มารดาแพมีพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพ.ศ. ๒๔๑๑ จึงย้ายมาพำนักที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ภายในพระบรมมหาราชวัง


พระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิม

พระที่ยั่งบรมพิมาน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ พระราชทานที่พระตำหนักในนันทอุทยานให้เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ต่อมาโรงเรียนนั้นย้ายมาตั้งที่โรงเรียนสุนันทาลัย (โรงเรียนราชินีในปัจจุบัน) จึงพระราชทานสวนนันทอุทยานให้ใช้เป็นสถานที่ราชการทหารเรือ

ปัจจุบันภายในสวนนันทอุทยานเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือกรุงเทพฯ ทางด้านเหนือเรื่อยลงมาจนถึงริมคลองมอญ เป็นที่ตั้งของกรมขนส่งทหารเรือ ด้านริมถนนอิสรภาพ เป็นที่ตั้งของกองดุริยางค์ทหารเรือ ส่วนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ หรือด้านเหนือวัดชิโนรสาราม เป็นที่ตั้งโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย มีถนนอิสรภาพตัดผ่ากลาง คนทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "สวนอนันต์"


พระราชวังนันทอุทยาน

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ที่สมุหพระกลาโหม เป็นผู้อำนวยการสร้างวังที่เมืองลพบุรี ประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๙ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างไว้และทิ้งเป็นที่รกร้างมาแต่ครั้งกรุงเก่านั้น ปฏิสังขรณ์ของเดิมที่ยังพอซ่อมแซมได้ คือ พระที่นั่งจันทรพิศาลองค์ ๑ กับกำแพงและประตูพระราชวังโดยรอบ โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระที่นั่งเป็นที่ประทับขึ้นหมู่หนึ่งเป็นพระที่นั่ง ๓ ชั้น ที่พระบรรทม พระราชทานนามว่า พระที่นั่งพิมานมงกุฏ ท้องพระโรง ๒ ชั้น ต่อมาทางทิศตะวันออกนาม พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย มีพระที่นั่งน้อยอยู่หน้าท้องพระโรง อีก ๒ องค์คู่กัน ได้แก่พระที่นั่งไชยศาสตรากร และพระที่นั่งอักศรศาสตราคม นอกจากนี้ยังมีตำหนักใน และอาคารอีกหลายหลัง พระราชทานนามรวมกันทั้งหมดว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์


หมู่พระราชมณเฑียรสร้างใหม่ ในรัชกาลที่ ๕ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์

ในเขตพระราชฐาน


 
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.