โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และพิพิธภัณฑ์
โรงพยาบาลตั้งอยู่ตำบลปากคลองสาน จึงมีผู้เรียกว่า โรงพยาบาลปากคลองสาน เนื่องจากหลังคาของอาคารโรงพยาบาลมุงด้วยกระเบื้องสีแดง บางครั้งคนทั่วไปจึงเรียกว่า "โรงพยาบาลหลังคาแดง"


พิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพระยา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาคนวิกลจริตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยใช้บ้านของ พระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) เจ้าภาษีนายอากรผู้ซึ่งยกอาคารนี้เพื่อใช้ชำระหนี้หลวง อาคารขนาดใหญ่ ๓ หลังเป็นเก๋งจีนเก่า และมีอาคารเล็กๆ โดยรอบอีกจำนวน หนึ่ง ใช้เป็นหอผู้ป่วยและกักกัน รักษาคนวิกลจริตด้วยวิธีโบราณที่เรียกว่า "นัดยา" ต่อมามีผู้ป่วยทวีมากขึ้น และมีวิธีการรักษาแบบทันสมัย จำเป็นต้องขยายโรงพยาบาล ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซื้อที่ดินซึ่งเป็นของบุตรหลานสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สร้างสถานที่ ห่างจากที่เดิม ๖๐๐ เมตร ด้านหน้าติดคลองสมเด็จเจ้าพระยา (คลองสาน) เป็นที่ดินของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ หรือเจ้าคุณทหาร (วร บุนนาค) ที่ที่มีกำแพงอยู่แล้วคือบ้านพระยาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) และที่ดินของราษฎรบริเวณใกล้เคียง รวมเนื้อที่ ๔๔ ไร่ครึ่ง เดิมมีตึกใหญ่ ๓ หลัง ได้รื้อลง ๒ หลัง ซึ่งเป็นตึกของหม่อมหลี และหม่อมคล้าม น้องสาว ซึ่งเป็นภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เพื่อใช้พื้นที่นี้สร้างเรือนผู้ป่วย เหลือตึกของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไว้เพื่อเป็นที่พักของผู้อำนวยการ ๑ หลัง

ด้านหน้าโรงพยาบาล จะมีต้นประดู่ใหญ่ปลูกเป็นแนวตลอด ริมน้ำเป็นเขื่อนกั้น มีท่าน้ำ ๓ ท่า ทุกท่ามีสิงห์โตหินคู่ประดับไว้ (สิงโตหินมาจากอับเฉาเรือจากเมืองจีน) ท่าแรกอยู่หน้าตึกบ้านพักผู้อำนวยการเป็น ท่าหิน ท่ากลางเป็นที่จอดรับส่งผู้ป่วยมีป้อมยาม ตรงท่านี้มีสะพานไม้เชื่อมถนนเลียบคลอง ไปทางวัดอนงคาราม ท่าสุดท้ายอยู่แถวถังน้ำบาดาลให้ผู้ป่วยอาบน้ำหรือเรือแกลบจอดส่งแกลบ

ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ถนนเลียบคลองสาน จากปากคลองสานถึงวงเวียนเล็กเป็นเพียงทางเท้า ทางเดินเป็นทางดินปูด้วยอิฐกว้างประมาณครึ่งเมตร ในคลองมีน้ำเต็ม และลึก ใช้เรือเดินไปมาในคลองหน้าโรงพยาบาล ต่อเมื่อสร้างสะพานพุทธฯ แล้วจึงสร้างถนนกว้าง ๓ เมตร พื้นที่แถวโรงพยาบาลเป็นสวนผลไม้ มีสวนขนาดใหญ่ของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม) ชาวบ้านเรียกว่า "สวนกรมท่า" มีพรรณไม้และพันธุ์สัตว์แปลกๆ นานาชนิด

เมื่อซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็นโรงพยาบาล รักษาคนวิกลจริต ในสังกัดกรมแพทย์ กระทรวงนครบาล พระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลคนเสียจริต" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลโรคจิต" และเมื่อโอนเข้าสังกัดกรมสาธาณสุข ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของสถานที่

ปัจจุบันนี้ตึกของเจ้าคุณทหารหรือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นอาคารตึกพิพิธภัณฑ์ ของโรงพยาบาล ตึกนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารแบบยุโรปมีหอคอย ในห้องโถงกลางชั้นสองมีระฆังสำริดขนาดใหญ่ มีอักษรแสดงว่าหล่อจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีเมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๔ (พ.ศ. ๒๔๕๗) คงจะเป็นระฆังที่สั่งเข้ามาเพื่อแขวนไว้บนหอคอยสถาปัตยกรรมของตึกนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่มีเสาเข็ม ใช้ซุงไม้สักวางเรียงไว้ข้างใต้ การฉาบปูนผนังตึกใช้ปูนขาวผสมน้ำอ้อย เมื่อเวลาล่วงเลยเป็นศตวรรษตึกทรุดโทรมมาก แต่ด้วยความอุตสาหวิริยะของนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ (อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาล) ได้ติดต่อหาสถาปนิกที่เชี่ยวชาญมาบูรณะซ่อมแซมแต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจมอบอาคารนี้ให้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้บูรณะตัวตึกและดูแลบริเวณอาคารโดยรอบด้วย การบูรณะอาคารพิพิธภัณฑ์จึงเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คัดเลือกให้เป็น "อาคารอนุรักษ์ดีเด่น" ได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๐

พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นอาคาร ๒ ชั้น มีห้องแสดงทั้งหมด ๙ ห้อง เป็นห้องนิทรรศการ และห้องที่จัดไว้สำหรับผู้เข้าชมรับฟังการบรรยาย "พิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่รวบรวมความเป็นมาของการรักษาผู้ป่วยทางจิต

ในห้องเกียรติภูมิของโรงพยาบาล จัดมุมหนึ่งไว้เพื่อเป็นเกียรติแด่ "เจ้าคุณทหาร" ที่ผนังติดภาพและประวัติเจ้าคุณทหาร เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินที่เป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน


 
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.