|
ถนนเจริญกรุง
สะพานดำรงสถิตย์
|
ถนนเจริญกรุง ถนนตรง และถนนสีลม
พ.ศ. ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
เป็นแม่กอง พระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน ตัดถนนตั้งแต่คลองคูพระนครชั้นใน
ข้างวังเจ้าเขมร ตรงลงไปต่อกับถนนตรงไปพระโขนง ที่คลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพงสายหนึ่ง
อีกสายหนึ่งแยกจากถนนตัดใหม่ที่กล่าวมาแล้วเหนือวัดสามจีน ทำถนนลงไปข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ใต้วัดตะเคียน
แล้วตรงลงไปทางหลังกงสุลฝรั่ง ไปทางตำบลบางรัก และบ้านทวาย จนถึงแม่น้ำเจ้า
พระยาที่ตำบลดาวคนองสายหนึ่ง คือถนนเจริญกรุง แล้วให้ขุดคลองขวางแต่บางรักไปถึงถนนตรงๆ
ศาลา (แดง) ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์สร้างไว้ ถมดินทำถนนอีกสายหนึ่ง
(เรียกว่าถนนสีลม) ถนนทั้งสามสายได้แก่ถนนตรง ถนนเจริญกรุง และถนนสีลม
เป็นถนนปูอิฐตะแคงโรยทราย
ในการสร้างถนนสามสายนี้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้นายช่างชาวอังกฤษ
ชื่อ เฮนรี่ อาลบาสเตอร์ (ต้นสกุล เศวตศิลา) เป็นผู้ส่องกล้องวางแนวถนน
และได้กรรมกรจีนเป็นผู้ตัดต้นไม้ (สวนหมากและมะพร้าว) ถมดิน สร้างถนน
พ.ศ. ๒๔๐๕ เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาลเป็นแม่กอง สร้างถนนเจริญกรุงตอนภายในกำแพงเมือง
ต่อจากถนนเจริญกรุงตอนใต้ ที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อำนวยการสร้าง ที่ริมคลองรอบเมือง
ตรงมาจนบรรจบถนนสนามชัย ที่มุมวัดพระเชตุพน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ให้สร้างตึกแถวชั้นเดียวขึ้นริมถนนทั้งสองฟาก
สำหรับให้คนเช่าทำการค้าขาย
การสร้างถนนทั้งสามสายนี้ จะต้องทำสะพานข้ามคลองที่ถนนผ่านหลายสะพานด้วยกัน
จึงโปรดให้บอกบุญผู้มีจิตศรัทธารับสร้างสะพานหลายแห่ง ได้แก่ สะพานหัน
สะพานถนนเจริญกรุง สะพานถนนขวาง (ถนนสีลม) และ
สะพานคลองถนนตรง เป็นต้น
|
สะพานที่เสนาบดีในตระกูลบุนนาคสร้าง ได้แก่
- สะพานเหล็ก รุ่นแรก ๒ สะพาน ได้แก่
สะพานเหล็กข้ามคลองรอบพระนคร บริเวณคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า "สะพานเหล็กบน"
ภายหลังโปรดพระราชทานนามว่า "สะพานดำรงสถิตย์" สะพานเหล็กอีกสะพานหนึ่งเป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
บริเวณป้อมปิดปัจจานึก เรียกว่า "สะพานเหล็กล่าง" ซึ่งต่อมาพระราชทานนามว่า
"สะพานพิทยเสถียร" สะพานเหล็กทั้ง ๒ สะพานนี้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สิ้นเงิน
๒๓,๒๐๐ บาท
- สะพานคลองถนนตรง มี ๒ สะพานได้แก่
สะพานข้ามคลองถนนตรง ที่ศาลาแดง และสะพานข้ามคลองไปปทุมวัน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
เป็นผู้สร้างสิ้นเงิน ๑,๘๔๐ บาท
ถนนสุรวงศ์ ถนนเดโช
ถนนสุรวงศ์ เริ่มจากถนนเจริญกรุงถึงสะพาน เฉลิมภพ ๕๐
ถนนเดโช แยกจากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสีลม
ชื่อถนนทั้งสองสายมาจากนามบรรดาศักดิ์ของพระยาสีหราชเดโชชัย ซึ่งต่อมาเลื่อนขึ้นเป็น
เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร
บุนนาค)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ เริ่มขยายตัวในด้านทิศใต้
มีผู้นิยมซื้อที่ดินแถบนั้นพร้อมทั้งพยายามนำความเจริญมาสู่ที่ดินของตนด้วยการขุดคลองหรือตัดถนนผ่าน
เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสีหราชเดโชชัย เป็นเจ้าของที่ดินแถบนั้นได้ตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าว
๒ สาย และได้กราบบังคมทูลถวายถนนให้เป็นถนนหลวง พร้อมขอพระราชทานนามถนน รัชกาลที่
๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า "ถนนสุรวงศ์" และ "ถนนเดโช"
เพื่อเป็นอนุสรณ์ตามนามบรรดาศักดิ์ของท่านเจ้าของถนน
สะพานราชเทวี สี่แยกราชเทวี
สะพานราชเทวี เป็นชื่อสะพานลอยบนถนนเพชรบุรีในปัจจุบัน
สี่แยกราชเทวี คือสี่แยกบริเวณถนนเพชรบุรีตัดกับถนนพญาไท
สะพานราชเทวี สร้างครั้งแรกเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลูกกรงเป็นปูนปั้น
ทอดข้ามคลองริมถนนเพชรบุรี สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีโปรดให้สร้างสะพานนี้ขึ้นเพื่อเป็นสาธารณกุศลในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ
๕๐ พรรษา การสร้างสะพานในครั้งนั้นเป็นการดำเนินตามพระราชนิยม ด้วยทรงมีพระราชประสงค์อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า
เมื่อสร้างสำเร็จทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานนี้ว่า "สะพานพระราชเทวี"
ต่อมาเมื่อมีการถมคลองสร้างถนน สะพานนี้จึงถูกรื้อถอนไป และได้สร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นสะพานลอยบนถนนเพชรบุรี
และสี่แยกถนนเพชรบุรีตัดกับถนนพญาไท ชื่อสะพานพระราชเทวี และสี่แยกพระราชเทวี
แต่คนทั่วไปมักเรียกสั้น ๆ ว่า "ราชเทวี"
สี่แยกแม้นศรีในอดีต
|
สี่แยกแม้นศรี สะพานแม้นศรี
แม้นศรี เป็นชื่อสี่แยกบริเวณถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนจักรพรรดิพงษ์
ตอนต่อกับถนนวรจักร และเป็นชื่อสะพานข้ามคลองเล็กๆ ใกล้ถนนจักรพรรดิพงษ์
ชื่อแม้นศรี มาจากชื่อหม่อมแม้น ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร
บุนนาค) เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชอนุชาร่วมพระราชชนนีเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อหม่อมแม้น ชายาที่ทรงรักมากถึงอนิจกรรม ได้มีพิธีกรรมจัดใหญ่มาก
และมีผู้สมทบเงินช่วยงานศพจึงนำเงินนั้นมาสร้างสะพานข้ามคลอง เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์และอุทิศส่วนกุศลให้แก่หม่อมแม้น
สะพานนี้เปิดใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ตั้งชื่อสะพานเป็นอนุสรณ์แก่หม่อมแม้นว่า
"สะพานแม้นศรี" ต่อมาเมื่อบริเวณนั้นมีถนนตัดผ่านเป็นสี่แยก
จึงเรียกว่า "สี่แยกแม้นศรี"
|
|