ตรอกโรงภาษี
เป็นตรอกหนึ่งในเขตบางรัก เดิมเป็นที่ตั้งของ ศุลกสถานหรือกรมศุลกากรในปัจจุบัน คนสมัยนั้นเรียกกันว่า "โรงภาษีร้อยชักสาม" เรียกสั้นๆ ว่า "โรงภาษี"

ศุลกสถานสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๓ โปรดให้ย้ายที่ทำการเก็บภาษีจากที่ทำการเดิมบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม มายังที่ทำการใหม่ซึ่งโปรดให้นาย ช่างชาวอิตาเลี่ยน ชื่อ กราสส์ เป็นผู้ออกแบบเป็นอาคาร ๓ ชั้นทันสมัย เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรกได้บัญญัติคำว่า ศุลกากร ขึ้นใช้ และจารึกชื่ออาคารนี้ว่า ศุลกสถาน คนทั่วไปยังนิยมเรียกโรงภาษี เช่นเดิม

พ.ศ. ๒๔๙๓ กรมศุลกากร ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ ณ บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ อาคารศุลกสถานเดิมเปลี่ยนเป็นที่ทำการกองตำรวจดับเพลิง แต่ชื่อตรอกนั้นยังเรียกว่า ตรอกโรงภาษี

ประภาคาร รีเยนท์ไลท์เฮาส์
เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาบางตอน มีสันดอน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ผ่านปากน้ำเข้ามาค้าขายในพระนคร พวกกงสุลและพ่อค้าฝรั่งจึงขอร้องให้รัฐบาลสร้างประภาคารขึ้นที่ริมร่องสันดอน เพื่อเรือกำปั่นจะได้แล่นเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับคำร้องขอจากพวกกงสุลในราว พ.ศ. ๒๔๐๓ โปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อประภาคารจากประเทศอังกฤษ นำมาติดตั้งที่หลังสันดอน ต่อมาประภาคารที่ซื้อนั้นโค่นล้มจมทะเลไป ทางพ่อค้าฝรั่งขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สร้างประภาคารให้ใหม่ ท่านได้ตัดสินใจส่งเงินส่วนตัวไปให้พระยาสยามธุระพาห์ กงสุลสยาม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ซื้อประภาคารเหล็ก พร้อมทั้งโคมไฟและอุปกรณ์ต่างๆ ส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ ได้ตั้งประภาคารเหล็กนั้นในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และให้คนนำก้อนหินไปถมสันดอนตรงที่จะตั้งประภาคาร เพื่อให้พื้นแน่น เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ แต่ ต้องรื้อทำใหม่ถึงสองครั้ง เนื่องจากพื้นทรุด ได้เปิดทำการจุดโคมไฟ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้จ่ายเงินส่วนตัวสร้างประภาคาร แห่งนี้เป็นเงิน ๒๒๖ ชั่ง โดยมีเจ้า พระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีกรมท่า เป็นผู้ควบคุมการสร้าง

เมื่อสร้างประภาคารและเปิดบริการแล้ว กรมท่าได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากเรือบรรทุกสินค้าที่มาจากต่างประเทศที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่ ๕๐ ตันขึ้นไป และเรือบรรทุกสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปประเทศอื่นๆ ทั้งขาเข้าและขาออก ในอัตราตันละ ๓ เซนต์สิงคโปร์ พวกฝรั่งตั้งชื่อประภาคารแห่งนี้ว่า รีเยนท์ไลท์เฮาส์ หมายถึงประภาคารของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

โรงเรียนหลวง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีความเห็นว่ารัฐบาลควรทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน ไม่ใช่ให้วัดเป็นสถานที่ศึกษาแต่แห่งเดียว (สมัยนั้นคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสจัดตั้งโรงเรียนอยู่ในวัดและสอนทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส) ควรจะเปิดสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนด้วย จึงให้จ้างชาวอเมริกันชื่อนาย แพตเตอร์ซัน มาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนที่ท่านตั้งขึ้นในวังหลวงริมประตูวิเศษไชยศรี สถานที่แบ่งเป็นสองแผนก แผนกหนึ่งอยู่ทางขวาของถนนเข้าวังชั้นกลาง สอนภาษาไทยและเลข อีกแผนกหนึ่งอยู่ทางซ้ายสอนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส นักเรียนส่วนใหญ่เป็นบุตรธิดาเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่

นักเรียนที่เรียนในชั้นภาษาไทย มีหนังสือเรียนภาษาไทยสองเล่ม พิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงซึ่งตั้งอยู่ในวัง เล่มหนึ่งเป็นหนังสือสอนอ่านให้ถูกอักขระวิธี ชื่อหนังสือ มูลบทบรรพกิจ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔) แต่งโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) อีกเล่มหนึ่งเป็นแบบสอนเลข ซึ่งยังใช้สูตรคูณเป็นภาษาบาลี เช่น สูตรคูณแม่นพ (แม่ ๙) ท่องว่า "นพเอกานพ ๙ นพโทอัษฎาทัศ ๑๘ นพตรีสัพตาพิศ ๒๗" อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนการสอนภาษาต่างประเทศนั้น มีครูสอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส แต่มีผู้เข้าศึกษาน้อย เพราะยังไม่เห็นประโยชน์ในการเรียน บางคนจึงลาออกไป ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ มีนักเรียนในแผนกนี้เหลือเพียงสามคน

ต่อมารัฐบาลได้ตั้งโรงเรียนหลวงภายนอกวัง เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน เรียกว่าโรงสกูลหลวง ซี่งได้มีการปรับปรุงขยายหลักสูตร ต่อมาได้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นภายในวัด ต่างๆ ซึ่งมีที่ดินกว้างขวางพอจะตั้งโรงเรียนได้และประหยัดเงินอีกด้วย


1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7


 

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.