(1) ๓:ด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นามว่า "ช่วง" เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) น้องกรมหมื่นนรินทรภักดี เป็นมารดา เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ที่บ้านสมุหพระกลาโหม (อยู่ระหว่างกำแพงพระมหาราชวังกับวัดพระเชตุพนฯ) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๙ คน และต่างมารดาอีก ๓๕ คน

ท่านบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๒ ท่านมีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม สนใจในการศึกษาข้อราชการบ้านเมืองจากท่านผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ได้ร่วมงานกับท่านบิดาในกิจการด้านพระคลังและกรมท่า ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ เลื่อนนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร (ช่วง บุนนาค) ขึ้นเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์

ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ ได้บันทึกไว้ว่า หลวงสิทธิ์นายเวรสนใจในการศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง เป็นนายช่างไทยคนแรกผู้สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้ ท่านได้ต่อเรือกำปั่นรบ เรียกว่าเรือกำปั่นบริค ลำแรกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" (แต่ฝรั่งเรียกว่าเรืออาเรียล) และได้ต่อเรือรบอีกหลายลำมีน้ำหนักถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ ตัน สำหรับลำเลียง ทหารไปรบกับญวน ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๘


ได้ต่อเรือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อว่า "ระบิลบัวแก้ว" (ภาษาอังกฤษว่า คองเคอเรอ) ซึ่งใหญ่กว่าเรือลำแรก ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ หลายอู่ เรือกำปั่นลำแรกที่ต่อเสร็จในอู่กรุงเทพฯ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า เรือแคลิโดเนีย เป็นเรือที่ต่อค้างจากจันทบุรี หลวงนายสิทธิได้นำมาต่อเพิ่มเติมจนแล้วเสร็จในอู่กรุงเทพฯ เมื่อต่อเรือลำนี้เสร็จ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลวงนายสิทธิเป็นช่างต่อเรือหลวงและเป็นผู้บัญชาการอู่หลวง

ปี พ.ศ. ๒๓๗๙ หลวงนายสิทธิได้ต่อเรือกำปั่นเสร็จอีก ๔ ลำ ได้แก่ เรือรบวิทยาคม เรือรบวัฒนานาม (แอโร) เรือจินดาดวงแก้ว (ประเภทเรือบาร์ก ชื่อว่า ซักเซส) เรือลำที่สี่ชื่อ เทพโกสินทร์ (ประเภทเรือขิป ซึ่งเป็นเรือของแม่ทัพหน้าคราวยกไปตีเมืองบันทายมาศ) เนื่องจากมีเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งหลายลำ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศ มาช่วยฝึกสอนวิชาเดินเรือให้แก่คนไทย ใน พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวอังกฤษชื่อ กัปตันทริกซ์ มาสอนวิชาเดินเรือทั้งเรือรบและเรือเดินสินค้า ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงนายสิทธิได้สร้างเรือกำปั่นแบบฝรั่งขึ้นอีกหลายลำ ได้แก่ เรือราชฤทธิ (พ.ศ. ๒๓๘๔) เรือสยามภพ (พ.ศ. ๒๓๘๕) เรือโผนเผ่นทะเล (พ.ศ. ๒๓๙๒) และเรือจรจบชล (พ.ศ. ๒๓๙๓)

หลวงสิทธินายเวร (ช่วง บุนนาค) รับราชการมี ความดีความชอบมากจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๓๘๔ เพิ่มสร้อยนามของท่านเป็นจมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์

ในปีนี้ได้เกิดสงครามกับญวน รัชกาลที่ ๓ ได้ให้จัดกองทัพเรือกำปั่นที่ต่อใหม่ โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพหลวง และจมื่นไวยวรนาถฯ เป็นทัพหน้ายก ไปตีเมืองบันทายมาศ

พ.ศ. ๒๓๙๓ โปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นมหาดเล็ก "คู่บุญ" ในรัชกาลที่ ๓ เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด เมื่อตอนประชวรหนักทรงรับสั่งฝากแผ่นดินไว้ว่า


หมอบรัดเลย์

"...การภายหน้าเห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดี ผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้..." ซึ่ง "ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์รับพระราช โองการแล้วก็ร้องไห้ ถอยออกมาจากที่เฝ้า..."

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งนำโดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัต บุนนาค) รวมทั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นต้น ได้พากันไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ครองพระสมณะเพศเป็นวชิรญาณภิกษุให้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ด้วยความพรักพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายว่า "การสนับสนุนของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคนั้น มีสาเหตุเนื่องมาจากมีความนิยมศึกษาวิชาความรู้ทางข้างฝรั่ง ก็เลยชอบสนิทสนมแต่นั้นมา ครั้นถึงเวลาปัญหาเกิดขึ้นจริงด้วยเรื่องรัชทายาท ท่านทั้งสอง(หมายถึง ช่วง บุนนาค และน้องชายของท่านอีกคนหนึ่งชื่อ ขำ บุนนาค - ผู้เขียน) นั้นก็เป็นกำลังสำคัญอยู่หลังบิดา (เจ้าพระยาพระคลัง) ในการขวนขวายให้พร้อมเพรียงกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ..."

ภาพวาดและภาพถ่ายเรือสุริยมณฑล ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ต่อถวาย


 
1 | 2 | 3 | 4 | 5

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.