ศาสตราจารย์ ดร. เดือน บุนนาค
และคุณหญิงเยาวมาลย์ บุนนาค

(1) ๖:ท:11:4:2 บุตรพระยาประเสนชิตศรีพิลัย (ดัด) กับคุณหญิงทรัพย์ (สกุลเดิม จุลดุลย์) เกิด พ.ศ. ๒๔๔๘ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระนคร แล้วไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ปริญญาตรี LicenciŽ en Droit เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัย เกรอนอบ (GRENOBLE) พ.ศ. ๒๔๖๘ และได้รับปริญญาเอกวิชากฎหมาย Docteur en Droit จากมหาวิทยาลัยปารีส พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ไปดูงานเกี่ยวกับการธนาคารของฝรั่งเศส และระเบียบการทำงานของสภาล่าง และสภาสูงที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒

พ.ศ. ๒๔๗๓ เข้ารับราชการกระทรวงยุติธรรม ฝึกหัดราชการศาลฎีกา และวิธีพิจารณาพิพากษาคดีศาลพระราชอาญา

พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นผู้พิพากษา ศาลพระราชอาญา

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ร่วมจัดระเบียบราชการบริหารระบบประชาธิปไตย โดยการปรับปรุงกระทรวงและข้าราชการ ร่วมในการจัดให้กองร่างกฎหมายมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา

พ.ศ. ๒๔๗๖ โอนจากกระทรวงยุติธรรมไปดำรงตำแหน่งเลขานุการ ชั้น ๒ กรมร่างกฎหมาย คณะรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้ากองในปีต่อมา

พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๘๘ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

พ.ศ. ๒๕๑๑ - ๒๕๑๔ เป็นประธานกรรมการร่างกฎหมาย กอง ๔ คณะกรรมการกฤษฎีกา

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพาณิชย์หลายสมัย ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ สมัยพลเรือตรีถวัลย์ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ คณะรัฐมนตรีคณะที่ ๑๙ ศาสตราจารย์เดือน บุนนาค ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา จนถึง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ผลงานสำคัญในช่วงนี้ คือ เป็นกรรมาธิการแก้ไขสนธิ สัญญาระหว่างประเทศกับประเทศพันธมิตร ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยช่วยแก้ประกาศสงครามให้กลายเป็นโมฆะ

งานด้านรัฐสภา ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๘๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ แล้วเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นกรรมาธิการวิสามัญ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. ๒๔๘๙ และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

งานด้านวิชาการ เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาความรู้กฎหมายเบื้องต้น และกฎหมายฝรั่งเศส ที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมืองแทนโรงเรียนกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์คนแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นศาตราจารย์ชั้นพิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ระหว่างเป็นอาจารย์สอนที่มหา วิทยาลัย ท่านได้เขียนตำราหลายเล่ม ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ (ภาคต้น) พ.ศ. ๒๔๗๗ และฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๐๐ เศรษฐศาสตร์ (ภาคปลาย) พ.ศ. ๒๔๘๕ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (ปริญญาตรี) พ.ศ. ๒๔๗๗ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (ปริญญาโท) พ.ศ. ๒๔๗๘ Le Conseil d' Etat ของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ และแปลหนังสือ Economics: An Introductory Analysis ของ Professor Paul A. Samuelson เป็นภาษาไทย เพื่อให้นักศึกษาใช้อ่านประกอบกับคำบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ

พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้รับ ได้แก่ มหา วชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ อายุ ๗๖ ปี

ศาสตราจารย์เดือน บุนนาค สมรสกับ คุณหญิงเยาวมาลย์ ธิดาพระยาอนุรักษ์โกษา (ประเวศ อมาตยกุล) และคุณหญิงแถม มีบุตรธิดา ๔ คน ธิดาชื่อ เดือนฉาย เป็นภรรยาอัมรินทร์ คอมันตร์ บุตรได้แก่ ธัลดล ดนุช และรัฐฎา นับเป็นลำดับชั้นที่ ๗

หน้า 93

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.