(2) ๖:ด:2:6:1 บุตรนายฉ่า
บุนนาค มารดาชื่อ ทองสุก เกิด พ.ศ. ๒๔๓๘ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา
๙ คน มีน้องสาวชื่อ ชิ้ม (เกิด พ.ศ. ๒๔๔๐) เป็นภรรยาพระดุลยกรณ์พิทารณ์
(เชิด บุนนาค) น้องชายชื่อ ชิวห์ เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ และนายเฉียบ
บุนนาค (เกิด พ.ศ. ๒๔๕๐) เป็นข้าราชการ กรมรถไฟ
เมื่อยังเยาว์ คุณหญิงไกรเพชรรัตนสงคราม (ฟอง บุนนาค) ผู้เป็นย่า
ได้นำตัวเข้าถวายเป็นมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ ๖ ได้ศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก เริ่มที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อาจารย์ใหญ่ได้นำนายชัพน์ บุนนาค ซึ่งแต่งเครื่องแบบลูกเสือ
ใหม่ ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน
ทรงโปรดฯ ให้นายชัพน์กล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ๓ ข้อ ถวายต่อพระพักตร์
และรับสั่งว่า ในนามของข้า ผู้ให้กำเนิดลูกเสือ
ข้ารับเจ้าเป็นลูกเสือไทยคนแรก ตั้งแต่บัดนี้ไป
เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเกียรติประวัติของนายชัพน์และพี่น้อง ในตระกูลบุนนาคที่รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด
บรรดาเพื่อนทั้งหลายก็พลอยตื่นเต้นด้วย เพราะขณะนั้นทั้งโรงเรียนหรือจะกล่าวทั้งประเทศไทย
ก็ยังไม่มีใครได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือเช่นนี้ คงมีแต่นายชัพน์เพียงคนเดียวเท่านั้น
หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้ว นายชัพน์ได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก
แผนกตั้งเครื่อง มียศเป็นมหาดเล็กวิเศษ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายรองพลพ่าย
มหาดเล็กเวรสิทธิ์ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำกรมราชเลขานุการในพระองค์
ตำแหน่งหุ้มแพรวิเศษ นายเวรอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น
นายลิขิตสารสนอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตยและสร้างดุสิตธานีขึ้น
โปรดเกล้าฯ ให้นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) เป็นนคราภิบาลของดุสิตธานี
ซึ่งตำแหน่งนี้น้อยคนมักที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
ต่อมาทรงมีพระราชดำริให้คนไทยได้มีนามสกุล ได้คิดนามสกุลพระราชทานกว่า
๖๐๐๐ นามสกุลในขั้นต้น ได้ทรงเขียนบัตรนามสกุลพระราชทานนั้นเป็นลายพระหัตถ์
แต่เมื่อมากรายเข้า ได้ทรงมอบหมายให้มหาดเล็กใน กรมราชเลขาธิการเป็นผู้เขียน
ทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปเพื่อลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ ให้นายลิขิตสารสนอง
เป็นหนึ่งในสามคนที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณในการนี้