(6) ๖:ด:1:1:2 บุตรพลโทเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต) มารดาชื่อ ทับทิม เกิด พ.ศ. ๒๔๓๗ เริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง โดยบิดานำเข้าถวายตัวให้เป็นมหาดเล็กของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินท์ เมื่อท่านเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ นายแพทย์เติม ได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็ก เชิงสะพานยศเส ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร การศึกษาที่โรงเรียนจึงต้องชะงักไป นักเรียนไทยหลายคนถูกกักบริเวณ เช่น ดร.ตั้ว ลพานุกรม ดร.ประจวบ บุนนาค ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ และหลวงสุริยพงศ์ฯ (กระจ่าง บุนนาค) เป็นต้น แต่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้ครูเยอรมันมาสอนในระหว่างนั้นได้ เมื่อสงครามยุติลงได้สมัครเข้าเป็นทหารอาสา ไปสงครามร่วมกับทหารอาสาจากประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นล่าม

พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้เข้าเรียนวิชาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบอร์น สอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ในปีต่อมาได้รับประกาศนียบัตรจากการทำงานค้นคว้าวิจัยอีกด้วย

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ทรงพระกรุณาให้นายแพทย์เติม ได้เป็นสมาชิกของมูลนิธิร๊อกส์เฟลเลอร์ และพระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ศึกษาวิชาสูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา (Obstetrics and Gynecology) ทั้งเรียนศัลยกรรมด้วย ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบอร์น ในหน้าที่ Voluntary Assistant

พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ศึกษาและได้ปฏิบัติงานด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาที่โรงพยาบาลต่างๆ ที่ประเทศเยอรมนี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อจากนั้นได้ไปดูงานกิจการในโรงพยาบาลหญิงของประเทศเดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย และฮังการี ตลอดการศึกษาได้รับทุนเล่าเรียนส่วนพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นเวลาประมาณ ๒๑ ปี

พ.ศ. ๒๔๗๔ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์โท สอนนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ แผนกสูติศาสตร์-
นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ต่อมาเป็นหัวหน้าแผนก ได้ปรับปรุงงานในแผนก ทั้งขออนุมัติงบประมาณและขอรับบริจาคเงินมาจัดซื้อเรเดียมสำหรับใช้รักษาคนไข้โรคมะเร็ง และจัดการสร้างต่อเติมตึกผ่าตัดของแผนก เป็นต้น

ศาสตราจารย์นายแพทย์เติม บุนนาค ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบันให้เป็นกรรมการแพทย์ ถวายพระประสูติกาลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์ผู้ปกครองนักศึกษาแพทย์คนแรก ได้วางระเบียบไว้ทั้งนักเรียนแพทย์ชายและนักเรียนแพทย์หญิง เป็นกรรมการสร้างหอประชุมแพทย์และเป็นกรรมการทุนอานันทมหิดล เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน

พ.ศ. ๒๕๐๒ พ้นจากตำแหน่งในโรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษต่อไปจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงได้เลิกสอน ท่านยังรับเป็นแพทย์ที่ปรึกษาของแผนกนรีเวชกรรม โรคเฉพาะสตรีของวชิร-พยาบาล และได้ทำหน้าที่ตรวจคนไข้ สอนนักเรียนแพทย์ซึ่งทางโรงพยาบาลรามาธิบดีส่งมาฝึกทุกสัปดาห์ จนถึงอายุ ๘๕ ปี ท่านได้เขียนตำราสูติศาสตร์ สำหรับพยาบาลและผดุงครรภ์ ร่วมกับนายแพทย์ธระ สุขวัจน์ อีกด้วย ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ อายุ ๘๘ ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ได้แก่ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทุติยจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๓ และ เหรียญจักรพรรดิมาลา

ท่านได้สมรสกับ ทวี (สกุลเดิม แก้วดวงเล็ก) มีบุตร ๑ คน ชื่อ ดร.เติมชัย (ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) นับเป็นลำดับชั้นที่ ๗ และมีหลานปู่ชื่อ นายเติมเทพ บุนนาค ซึ่งเป็นลำดับชั้นที่ ๘

หน้า 73

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.