(๑) ๕:ด:2:4 ธิดาพระยาราชพงศานุรักษ์ (ชม บุนนาค) และคุณหญิงสวาสดิ์ ธิดาพระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๓ คน คือ คุณหญิงประชุมวงศ์ หม่อมเชื้อสาย วัฒนวงศ์ ท.จ. ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ฯ และหลวงวิชิตสุรไกร (ไชยมงคล บุนนาค)

คุณหญิงประชุม สมรสกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (วิเชียร บุนนาค) บุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่มิได้มีบุตรธิดา ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารับใช้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในงานพระราชพิธีต่างๆ อยู่เสมอ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า

คุณหญิงประชุม เป็นผู้ที่ชื่นชอบในทางนาฏศิลป ท่านจึงให้สร้างโรงประชุมมหรสพไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ของวงศ์สกุลและเป็นที่หย่อนใจของบุตรหลาน ได้เปิดโรงเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) และพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) ได้จัดละครรำมาแสดงเป็นปฐมฤกษ์ และใช้เป็นที่แสดงมหรสพต่างๆ ตลอดมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อพระยามนตรีสุริยวงศ์ผู้สามีล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ และเบาหวานแล้วถึงแก่กรรม ทำให้คุณหญิงเศร้าโศกแล้วล้มป่วยลงด้วย ประจวบกับเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา จึงต้องอพยพหลบภัยไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทำให้สุขภาพทรุดลงตามลำดับ ท่านถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ อายุ ๗๔ ปี




(๒) ๕:ด:2:4 ธิดาพระยาราชพงศานุรักษ์ (ชม บุนนาค) กับคุณหญิงสวาสดิ์ ธิดาพระยาอิสรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค) เป็นน้องร่วมบิดามารดากับคุณหญิงประชุมมนตรีสุริยวงศ์ (ประชุมวงศ์ บุนนาค) เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์เสด็จกลับจากราชการต่างประเทศ เพื่อมารับราชการใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เสด็จไปขอหม่อมเชื้อสายจากเจ้าคุณหญิงคลี่ เมื่อหม่อมเชื้อสายได้ถวายตัวแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้เสด็จไปประทับที่หอเสวย บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) (ซึ่งได้ตกเป็นมรดกของเจ้าคุณหญิงคลี่แล้ว) ต่อมาได้ทรงย้ายมาประทับที่วังข้างวัดสุทัศน์เทพวราราม ภายหลังได้ทรงปลูกวังใหม่ขึ้นที่ตำบลมักกะสัน กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ได้ถวายวังเดิมข้างวัดสุทัศน์ฯ รวมทั้งตำหนักและโรงเรียนที่ได้ทรงสร้างไว้ในวังนั้น ให้เป็นโรงเรียนในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้แล้วจัดตั้งเป็นโรงเรียนสตรี พระราชทานนามว่า "โรงเรียนเบญจมราชาลัย"

พระโอรสและพระธิดาในหม่อมเชื้อสายมี ๔ พระองค์คือ
       ๑. หม่อมเจ้าสุวัฒนวิสัย วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๓๙
       ๒. หม่อมเจ้าเกรียงไกรมรุพล วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๔๑
       ๓. หม่อมเจ้าหญิงสุวคนธ์ประทุม วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๔๔๔
       ๔. หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ประสูติ พ.ศ.๒๔๕๒

พระโอรสและพระธิดาของหม่อมเชื้อสาย ชันษาสั้น ๓ พระองค์ คงเหลือแต่หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ และหม่อมมารดาถึงอนิจกรรมในเวลาต่อมา ขณะนั้นหม่อมเจ้าหญิงจงกลนีมีชันษาเพียง ๑๔ ปี ต้องดูแลรักษาทรัพย์สมบัติด้วยพระองค์เอง จึงทรงสนพระทัยศึกษาภาษาอังกฤษและค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือต่างๆ

พ.ศ. ๒๔๙๑ ทรงเปิดร้าน "สุคนธาลัย" ข้างตำหนักถนนสุรวงศ์ ทรงทำน้ำอบไทย แป้งร่ำ แพรเพลาะห่มนอน เสื้อเด็กอ่อน และกางเกงแพร ขายหารายได้เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อให้การศึกษาแก่พระญาติและเด็กที่อยู่ในพระอุปการะ

พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ทรงสมัครเป็นสมาชิกอาสากาชาด เข้ารับการอบรมวิชาพยาบาลและช่วยปฏิบัติงานให้แก่ทหารบาดเจ็บที่มาพักฟื้น อบรมสมาชิกอาสากาชาดให้เย็บสิ่งที่เป็นเครื่องใช้สำหรับเด็ก และใช้ในบ้านที่กองอาสากาชาด นอกจากนี้ยังได้ทรงเอื้อเฟื้อช่วยเหลือญาติในสกุลบุนนาค น้องและหลานของหม่อมเชื้อสายมารักษาเวลาเจ็บไข้อีกด้วย หม่อมเจ้าหญิงจงกลนีวัฒนวงศ์ ธิดาองค์เล็กของหม่อมเชื้อสาย ถึงชีพตักษัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้แก่สภากาชาดไทย

หน้า 48

 


สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30
31 | 32 | 33 | 34 | 35 | 36 | 37 | 38 | 39 | 40 | 41 | 42 | 43 | 44 | 45 | 46 | 47 | 48 | 49 | 50 | 51 | 52 | 53 | 54 | 55 | 56
57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | 65 | 66 | 67 | 68 | 69 | 70 | 71 | 72 | 73 | 74 | 75 | 76 | 77 | 78 | 79 | 80 | 81 | 82
83 | 84 | 85 | 86 | 87 | 88 | 89 | 90 | 91 | 92 | 93 | 94 | 95 | 96 | 97 | 98 | 99 | 100 | 101 | 102 | 103 | 104 | 105 | 106
107 | 108 | 109 | 110 | 111 | 112 | 113 | 114 | 115

Copyright © 2005 Bunnag.in.th All rights reserved.