|
|
(3) ๓:ด เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี
มีนามว่า ขำ เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) กับหม่อมรอด
เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่ ๒ เข้ารับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพลพันมหาดเล็กหุ้มแพร ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นจมื่นราชามาตย์พลขันธ์
ตำแหน่งปลัดกรมพระตำรวจ
พ.ศ. ๒๓๗๓ โปรดเกล้าฯ ให้จมื่นราชามาตย์เป็นแม่กองสร้างป้อมที่แหลมด่านปากน้ำ
ชื่อป้อมภัยพินาศ และที่เขาแหลมสิงห์ โดยรื้อป้อมเก่าสร้างใหม่ให้ชื่อว่าป้อมพิฆาตปัจจามิตร
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ เกิดผู้ร้ายปล้นชุกชม โปรดเกล้าฯ ให้จมื่นราชามาตย์ออกไปจับผู้ร้ายปล้นที่เมืองสมุทรสงคราม
ได้คนร้ายมามากกว่า ๓๐ คน
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ โปรดเกล้าฯ ให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ) จมื่นรักษพิมาน
หลวงนายเสน่ห์รักษา ออกไปชำระฝิ่นหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองปราณไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช
และตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าไปถึงเมืองถลางได้ฝิ่นมาจำนวนมาก ได้ส่งเข้ามาเผาที่หน้า
พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พ.ศ. ๒๓๙๐ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ
บุนนาค) ออกไปปราบจีนตั้วเหี่ย พ่อค้าฝิ่น ณ แขวงเมืองราชบุรี สาครบุรีและเมืองฉะเชิงเทรา
ท่านได้สั่งให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ) คุมคนออกไปจับผู้ร้าย และจับพวกขายยาฝิ่นเป็นจำนวนมากหลายเมือง
จนสำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๓๙๑
|
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้จมื่นราชามาตย์ไปช่วยราชการในกรมท่า
และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา เรียกกันว่า "เจ้าพระยาผู้ช่วยราชการกรมท่า"
ในเวลานั้นสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) บิดาของท่านยังดูแลกรมท่าอยู่
พ.ศ. ๒๓๙๘ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า
งานสำคัญของท่านที่มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์การทูตของไทยคือ การร่วมแก้สัญญาการค้าและทางพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ
ซึ่งรัฐบาลสมเด็จพระนางเจ้าราชินีวิกตอเรียได้สั่ง เซอร์ จอห์น บาวริ่ง ผู้
สำเร็จราชการเกาะฮ่องกง เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะทูต ขอแก้ สัญญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘
คณะทูตไทยที่เตรียมเจรจาครั้งนั้นมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
ผู้มีความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน
"คณะข้า หลวง" ที่เข้าร่วมเจรจา ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
(ดิศ) เสนาบดีกรมท่าและผู้สำเร็จราชการพระนคร เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง)
ที่สมุหพระกลาโหม และเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) ผู้ช่วยเสนาบดี กรมท่า
เป็นต้น
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี
(ขำ) นั้นเจ็บป่วยหลายครั้ง ตั้งแต่รับพระราชทานราชทินนามนี้ จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเปลี่ยนราชทินนามใหม่ว่า
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กอง ดำเนินการขุดคลองมหาสวัสดิ์
คลองถนนตรง คลองเจดีย์บูชา และปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ วัดเฉลิมพระเกียรติฯ
พระสมุทรเจดีย์ วัดบางพระ และวังเกาะสีชังจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังได้ปฏิสังขรณ์วัดดอกไม้หรือวัดบุปผารามอีกด้วย
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ซึ่งได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการประจำเพื่อรักษาโรคตาของท่าน
ในตอนปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ กลับเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมท่าตามเดิม
และเพิ่มอิสริยศักดิ์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นพิเศษโดยมีประกาศเมื่อ พ.ศ.
๒๔๑๒
"จึงมีพระบรมราชโองการ ... สถาปนาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี
มีอำนาจได้สำเร็จราชกิจในการต่างประเทศและเป็นที่ปรึกษาคิดอ่านราชการแผ่นดินและพระราชทานให้เพิ่มศักดินา
๑๐๐๐๐ เป็น ๒๐๐๐๐ ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี ๒ เท่า ทรงดวงตราจันทรพิมานมณฑลเป็นสำคัญ..."
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค) เป็นผู้ที่มีความ จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งพระราชวงศ์
จักรีทุกพระองค์ มีความรักในประเทศชาติ มีความสามารถ ในการติดต่อกับต่างประเทศ
นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงหนังสืออีกหลายเล่มเช่น เรื่องพระปฐมเจดีย์
ลำดับเสนาบดี จดหมายเหตุปฐมเจดีย์ สกุลบุนนาค พงศาวดารจีนเรื่องซุยถัง หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์
และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกสารที่มีคุณค่ายิ่งในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติความเป็นมา และเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งสังคมไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ไม่มีบุตรธิดา ท่านถึงแก่พิราลัยตอนต้นแผ่นดินรัชกาล
ที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ รวมอายุได้ ๕๗ ปี เครื่องยศและบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ท่านได้รับนั้นเทียบที่สมเด็จเจ้าพระยา
ท่านยังเป็นผู้สำเร็จราชการกรมท่าและที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ดังนั้นจึงนับได้ว่าเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี
(ขำ บุนนาค) เทียบเท่ากับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์สุดท้ายของตระกูลบุนนาค
และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
|
หน้า 7
|
|
สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล
|
|
|
|
|
|
|